หนุน “ภูเก็ต” เมืองท่องเที่ยวปลอดภัย “หมอชลน่าน” ยกระดับศักยภาพ รพ.ฉลอง ดูแลประชาชนและนักท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นความปลอดภัยด้านสุขภาพ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโรงพยาบาลฉลอง จ.ภูเก็ต พร้อมยกระดับศักยภาพการบริการ เพิ่มเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น CT, MRI ตรวจวินิจฉัย รักษาโรคระดับทุติยภูมิ ส่งต่อแบบไร้รอยต่อ ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉิน สร้างความเชื่อมั่นรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวปลอดภัย “Safety Phuket Island Sandbox”

วันที่ 29 มกราคม 2567 ที่โรงพยาบาลฉลอง จังหวัดภูเก็ต นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดและมอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้บริจาคเงินสนับสนุนโรงพยาบาลฉลอง โดยมี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ชูชาติ นิจวัฒนา ผอ.โรงพยาบาลฉลอง, นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นายเรวัติ อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต คณะผู้บริหาร และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัย เป็น 1 ใน 13 นโยบายการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข ที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจังหวัดภูเก็ต ถือเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาเยือนปีละหลายล้านคน จึงเป็นจังหวัดนำร่อง “Safety Phuket Island Sandbox” ที่มีการยกระดับความปลอดภัยทางสุขภาพ ทั้งด้านการเฝ้าระวังโรค ควบคุมโรคที่ทันสมัย ทันเวลา และการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน สำหรับผู้ป่วยวิกฤตอย่างครอบคลุม โดยพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลชุมชนให้มีเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น CT, MRI สามารถตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาผู้ป่วยโรคที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น ช่วยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว รวมทั้งเชื่อมโยงการทำงานเป็นเครือข่ายและมีระบบส่งต่อผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อ สามารถให้บริการได้ทันท่วงที โดยเฉพาะภาวะฉุกเฉินต่อชีวิต ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวได้อย่างดี

ด้าน นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลฉลอง เป็นโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแห่งที่ 4 ของจังหวัดภูเก็ต รับผิดชอบประชาชนในตำบลฉลอง ตำบลราไวย์ ตำบลกะรน รวม 54,227 คน เปิดให้บริการเมื่อปี 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 จึงยังไม่ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ให้บริการจริง 48 เตียง มีบริการตรวจผู้ป่วยนอกทั่วไป 4 ห้อง และบริการคลินิกเฉพาะ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ, ให้สุขศึกษา เลิกบุหรี่ เลิกสุรา, กระดูกและข้อ, โรคเรื้อรังเบาหวานความดัน, ลดพุง/ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, กระตุ้นพัฒนาการเด็ก, กัญชาทางการแพทย์, โรงเรียนพ่อแม่, จิตเวชและบำบัดยาเสพติด และส่งเสริมการมีบุตร ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มกราคม 2567) มีผู้เข้ารับบริการทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และแรงงานต่างด้าว รวมมากกว่า 500,000 ราย และมีผู้ป่วยด้านสาธารณสุขทางทะเลเข้ารับบริการ ประมาณ 200 ราย โดยในปี 2567 โรงพยาบาลฉลองมีแผนที่จะพัฒนาให้ผ่านการประเมินคุณภาพสถานพยาบาล (HA) ขั้น 1 และ 2 และเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขด้วย