5C ส่งเสริมจุดแข็งจัดการจุดอ่อน เรียนรู้จาก “สมัชชาสุขภาพฯ พัทยา” ต้นแบบพื้นที่สร้างนโยบายสาธารณะ พร้อมประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพพัทยา”

สช. พร้อมภาคีเครือข่ายเมืองพัทยา ร่วมวงถอดบทเรียน “สมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา” พบความสำเร็จจากการสร้างการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย ภายใต้ผลลัพธ์การได้กฎกติกา-ระเบียบการอยู่ร่วมกันในสังคม ตลอดจนข้อตกลงของกลุ่มอาชีพ พร้อมวิเคราะห์ปัจจัยสนับสนุน-ข้อจำกัด สู่การขยายผลขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพ” อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

วันที่ 23 มกราคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับเมืองพัทยา และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนการจัดและแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2566 เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนตลอดจนวิเคราะห์ถอดบทเรียนกระบวนการสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 2 ให้เกิดเป็นข้อเสนอที่นำไปสู่การวางแผนและออกแบบกระบวนการขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต

สำหรับสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2566 ภายใต้ประเด็นหลัก (Theme) “เมืองท่องเที่ยวที่ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสุขภาพ” ได้รับความสนใจจากภาคีเครือข่ายกลุ่มต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชนและเอกชน ที่เข้าร่วมงานรวมกว่า 300 คน โดยในเวทีการประชุมซึ่งมี นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา เป็นประธาน ได้ร่วมกันรับรองฉันทมติ 2 ระเบียบวาระ ประกอบด้วย 1. ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา 2. ธรรมนูญกลุ่มอาชีพ

นอกจากนี้ ภายในงานดังกล่าวได้มีการร่วมกันประกาศใช้ธรรมนูญ 3 ฉบับ ได้แก่ “ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา” เป็นข้อตกลงและพันธะร่วมกันทุกภาคส่วนในเมืองพัทยา ทั้งคนในชุมชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาครัฐ หรือหน่วยราชการต่างๆ ให้เป็นกรอบทิศทางหรือแนวปฏิบัติในการนำไปสู่สุขภาวะของเมืองพัทยา ร่วมด้วย “ธรรมนูญกลุ่มอาชีพ ร่มเตียง ชายหาดเมืองพัทยา” และ “ธรรมนูญกลุ่มอาชีพ นวดแผนไทย ชายหาดเมืองพัทยา” ที่เป็นเสมือนข้อตกลงร่วมกันในการบริหารจัดการชายหาด รวมทั้งกติกาของกลุ่มผู้ประกอบการร่มเตียงและนวดแผนไทย

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมืองพัทยาไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะสำหรับประเทศไทย หากยังเป็นหมุดหมายของการท่องเที่ยวที่สำคัญในระดับโลก ดังนั้นการออกแบบกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดี จึงมีผลไปถึงกลุ่มคนที่หลากหลายในวงกว้าง ซึ่งเป็นความโชคดีที่เมืองพัทยามีฐานต้นทุนเดิมที่ดี ไม่ว่าจะเป็นความใส่ใจและเอาจริงเอาจังของคณะผู้บริหารเมือง รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายแต่ละภาคส่วนที่หลากหลาย

“ที่ผ่านมาเวลาเราพูดถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน ส่วนใหญ่มักจะมุ่งให้ความสำคัญไปที่โครงสร้างพื้นฐาน แต่ในระยะหลังเราจะเห็นได้ว่าหลายแห่งมีการให้ความสนใจกับเรื่องของสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้สอดรับกับนิยามของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ว่าระบบสุขภาพนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของมดหมอหยูกยา แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงปัจจัยทางพฤติกรรม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ในอีกหลายมิติ ที่ต้องการให้ผู้คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมพูดคุย มองเป้าหมายร่วมกัน” นพ.สุเทพ กล่าว

นพ.สุเทพ กล่าวว่า การถอดบทเรียนกระบวนการนโยบายสาธารณะของเมืองพัทยานั้น จะช่วยให้เกิดการจัดการจุดอ่อนและเสริมในจุดแข็ง เพื่อให้การขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆ เดินหน้าต่อไปได้ดียิ่งขึ้น โดยอาจสรุปสิ่งสำคัญได้ใน 5C คือ Common Goals การมีเป้าหมายร่วมกัน, Capital การใช้ฐานทุนที่มี, Collaboration สร้างการมีส่วนร่วม, Commitment การสร้างพันธสัญญาร่วมคิดและต้องร่วมทำ และ Communication การสื่อสารที่ครอบคลุมไปถึงทุกภาคส่วน

ในส่วนของกระบวนการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียนฯ ในครั้งนี้ ซึ่งนำโดย ดร.จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ภาคีเครือข่ายได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียนการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 2 ซึ่งพบว่ามีการเตรียมงานที่ดีขึ้นจากการจัดงานในครั้งที่ 1 โดยเพิ่มกลุ่มเป้าหมาย การมีส่วนร่วม รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยังเห็นความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายที่มีความตื่นตัวเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันยังเกิดผลลัพธ์ที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เริ่มเกิดการจัดระเบียบของสังคม ด้วยการวางกฎกติกาการอยู่ร่วมกันของสังคมเมืองพัทยาภายใต้ “ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา” ซึ่งพบว่านอกจากจะถูกกล่าวขานถึงเป็นตัวอย่างในระดับประเทศแล้ว ยังมีการสื่อสารถึงในระดับสากลผ่านสำนักข่าวต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบและสร้างการรับรู้ไปในวงกว้าง นับเป็นนวัตกรรมชุมชนเมืองที่มีการจัดการตนเอง โดยเชื่อมโยงกับการทำงานภาครัฐภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ จากการร่วมกันวิเคราะห์ปัจจัยสนับสนุน พบว่าเมืองพัทยามีคณะทำงานที่เก่ง มีผู้บริหารที่ให้ความสำคัญ และมียุทธศาสตร์ของเมืองที่สอดคล้องกับกระบวนการนโยบายสาธารณะ ส่วนปัจจัยที่ยังเป็นข้อจำกัด เช่น ระเบียบของงบประมาณที่ขาดความคล่องตัว กรอบระยะเวลาการเตรียมงาน การเข้าถึงของกลุ่มเป้าหมายที่ยังขาดในบางกลุ่ม การสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาสู่กระบวนการ ตลอดจนเรื่องของการมีส่วนร่วมที่อาจยังไม่ถึงระดับของการเข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วน ซึ่งประเด็นทั้งหมดได้ถูกรวบรวมเป็นข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การพัฒนาในกระบวนการขับเคลื่อนต่อไป