“รัฐบาลเอาจริง เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินประชาชนทั้งระบบเป็นวาระแห่งชาติ” กระทรวงยุติธรรม จับมือ กยศ. และสถาบันการเงิน 23 แห่งเปิดเวทีใหญ่ จัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ครั้งที่ 1

เริ่มขึ้นแล้ว “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ครั้งที่ 1 รัฐบาลเอาจริงเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินประชาชนทั้งระบบเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม-กยศ. จับมือ 23 สถาบันการเงินชั้นนำเปิดเวทีใหญ่ผ่อนคลายหนี้ให้ประชาชนเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้แก่ลูกหนี้ นำร่องลูกหนี้ก่อนฟ้อง/ หลังศาลมีคำพิพากษา และสถาบันการเงิน กยศ. รวม 135,155 ราย คิดเป็นทุนทรัพย์รวมกว่า 24,791,731,583 ล้านบาท เชื่อมั่นจะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

วันที่ 27 มกราคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ หอประชุมรักตะกนิษฐ ชั้น 2 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กรุงเทพมหานคร พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดโดย กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับ กรมบังคับคดี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรมพระธรรมนูญ โดยมี นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวรายงาน และมี นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี พร้อมด้วย คณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ทนายความ ประชาชน และผู้ที่สนใจ เข้าร่วม

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 28 มกราคม 2567 โดยภายในงานได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมที่ลงทะเบียนแก้ไขหนี้สิน การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง และการไกล่เกลี่ยหลังศาลมีคำพิพากษา เข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และข้อกฎหมายต่างๆ จากวิทยากรทรงคุณวุฒิ และการจัดแสดงนิทรรศการจาก 13 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินทั้งระบบให้กับประชาชนทุกกลุ่มทั้งภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบครั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการอย่างชัดเจน และบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้ เป็นไปอย่างยั่งยืน และไม่กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 กำหนดกรอบในการแก้ไขปัญหาที่จะเร่งดำเนินการ คือ แก้ไขปัญหานี้สินทั้งในภาคเกษตรภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ลดภาระพี่น้องเกษตรกร ด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นฟูและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง

กระทรวงยุติธรรม จึงได้มอบหมายให้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและกรมบังคับคดี ผนึกความร่วมมือกับ สถาบันการศึกษา กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินกว่า 23 แห่ง ประกอบด้วย 1.ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด 3.บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด 4.บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) 5.ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) และธุรกิจในเครือ 6.บริษัท บริหารทรัพย์สิน กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) 7.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 8.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME) 9.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (มหาชน) 10.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 11.บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) 12.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ๑๓.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 14.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 15.บริษัท จำกัดบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท (SAM) 13.ธนาคารออมสิน 17.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 18.บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน 19.บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 20.ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 21.บริษัทยู โอบี แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด 22.บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และ 23.บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) ร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษาด้วยการไกล่เกลี่ย ตามที่มีกฎหมายของหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบ

สำหรับการเปิดเวทีในครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ก่อนฟ้อง/หลังศาลมีคำพิพากษา สถาบันการเงิน กยศ. จำนวนกว่า 135,155 ราย คิดเป็นทุนทรัพย์กว่า 24,791,731,583 ล้านบาท แยกเป็น ชั้นก่อนฟ้องคดี จำนวนกว่า 33,810 ราย ทุนทรัพย์กว่า 8,145,081,258 ล้านบาท ชั้นหลังศาลมีคำพิพากษา จำนวนกว่า 135,155 ราย ทุนทรัพย์กว่า 16,646,650,325 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมโดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและ กรมบังคับคดี เคยจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนมาแล้วทั้ง 76 จังหวัด โดยสามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนไปแล้ว ทั้งในชั้นก่อนฟ้องคดีช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้ถูกฟ้องคดีต่อศาลจำนวน 44,735 ราย ทุนทรัพย์ จำนวน 5,810.5 ล้านบาทและในชั้นหลังศาลมีคำพิพากษา ช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้ถูกยึดทรัพย์และอายัดทรัพย์ จำนวน 44,393 ราย ทุนทรัพย์ จำนวน 16,450,422,403.43 ล้านบาท ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน 604,495,172.10 บาท

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวย้ำต่อด้วยว่า “กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้แก่ลูกหนี้ที่ต้องการ ความช่วยเหลือด้วยความสมัครใจเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ในปีนี้กระทรวงยุติธรรม โดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและกรมบังคับคดี ยังคงเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนที่เป็นหนี้กองทุนเงินให้กู้เพื่อการศึกษา ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิตที่ผิดนัดชำระหนี้ เข้าเกณฑ์จะถูกฟ้องดำเนินคดี หรือไม่มีกำลังผ่อนชำระตามสัญญา ได้รู้สิทธิตามกฎหมายและเข้าถึงความยุติธรรม รวมถึงสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการวางแผน และสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นเกราะป้องกันปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน”

สำหรับประชาชนที่มีความสนใจ และต้องการสอบถามข้อมูลหรือข้อสงสัยต่างๆ เพิ่มเติม สามารถติดต่อผ่านช่องเว็บไซต์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ หรือสอบถามผ่าน สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77 และสายด่วนกรมบังคับคดี โทร. 1111 กด 79 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง หรือ โทร. 0 2141 2773, 0 2141 2767, 0 2141 2777 และ 081 763 9156