โครงการประตูระบายน้ำห้วยซัน ต่อยอดระบบชลประทานน้ำหยดด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ความสำเร็จที่เกิดจากการบูรณาการ

โครงการประตูระบายน้ำห้วยซัน ต.ดอนหัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น หนึ่งในความสำเร็จของโครงการชลประทานที่ต่อยอดระบบชลประทานน้ำหยดด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ นำมาซึ่งการพัฒนาอาชีพให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ด้วยความร่วมมือของหลายหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายจักริน ประเสริฐสุวรรณ ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่าในปี พ.ศ.2558 ราษฎรตำบลดอนหัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ได้ขอให้กรมชลประทานช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร และการอุปโภค-บริโภค เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวในช่วงฤดูน้ำหลาก ก็จะเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตร ส่วนในช่วงฤดูแล้งก็ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ โครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงได้พิจารณาความเหมาะสม และดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยซัน ซึ่งลักษณะโครงการเป็นประตูระบายน้ำขนาด 6×7 เมตร จำนวน 4 บาน ระดับเก็บกัก 150.50 ม.รทก. พร้อมระบบแพร่กระจายน้ำโดยพลังงานแสงอาทิตย์อีก จำนวน 86 ชุด เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ สำหรับช่วยพื้นที่การเกษตรกว่า 400 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค ให้กับราษฎร จำนวน 210 ครัวเรือน โดยโครงการก่อสร้าง ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2560 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2561 ปัจจุบันเกษตรกรที่ได้รับผลประโยชน์จากการใช้น้ำจากประตูระบายน้ำห้วยซัน สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการฯ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายด้านต้นทุนการผลิต และได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรบ้านโนนเขวา โดยมีหลายหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้ามาส่งเสริม สนับสนุนจนเป็นอีกกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ ที่ประสบความสำเร็จตามนโยบายแปลงใหญ่ ที่ฉายให้เห็นภาพการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ระหว่าง เกษตรกร-ราชการ-เอกชน ภายใต้กรอบ “ตลาดนำการผลิต” ได้เป็นอย่างดี

นายเชิด กันหา เกษตรกรบ้านโนนเขวา กล่าวว่า เดิมตนมีอาชีพทำนาและปลูกผักเป็นรายได้เสริม ในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำมากมักจะประสบปัญหาน้ำท่วม ส่วนในช่วงหน้าแล้ง ลำห้วยซันก็ไม่มีน้ำให้ทำการเกษตร หลังจากที่มีโครงการประตูระบายน้ำห้วยซันช่วยเก็บน้ำในช่วงที่มีน้ำมาก พื้นที่น้ำท่วมก็ลดลง ส่วนในหน้าแล้งก็มีแหล่งน้ำให้ทำการเกษตรได้ ถึงแม้ปีนี้จะประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ตนก็ยังสามารถปลูกผัก ซึ่งเป็นพืชระยะสั้นที่ใช้น้ำน้อยได้ ทุกวันนี้ได้เข้าร่วมกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านโนนเขวา ทำให้ครอบครัวมีรายได้จากการขายผักประมาณเดือนละ 30,000 บาท

ด้านนายสุรสิทธิ์  ชินวงค์ เกษตรกรที่เข้าร่วมกลุ่มระบบสูบน้ำด้วยพลังแสงงานอาทิตย์ กล่าวว่า ตนได้สูบน้ำจากลำห้วยซันโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาเก็บกักไว้ในสระน้ำ และต่อยอดโดยการต่อเข้าแปลงผักด้วยระบบน้ำหยดและระบบสปริงเกอร์ ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย เป็นการลดต้นทุนการผลิต และช่วยประหยัดน้ำในช่วงที่น้ำน้อยนี้

โครงการประตูระบายน้ำห้วยซัน จึงเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้ประชาชนในพื้นที่ สร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนพื้นที่อย่างยั่งยืน