กรมชลประทาน นำสื่อมวลชน ติดตามโครงข่ายระบบบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก ย้ำชัด!!! แล้งนี้น้ำเพียงพอแน่นอน

กรมชลประทาน จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร พาเยี่ยมชมระบบอ่างพวงภาคตะวันออก โครงการอ่างเก็บน้ำประแสร์และโครงการอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง ส่องแนวทางการบริหารจัดการน้ำและการเชื่อมโยงเครือข่ายน้ำในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา) รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ

วันที่ 25 มกราคม 2567 นายจิรพงษ์ ศาสตร์แย้ม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานระยอง พร้อมด้วย นายอรุษ เทียนสว่าง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำและระบบเชื่อมโยงน้ำในพื้นที่ จ.ระยอง ซึ่งเป็น 1 ใน 3 จังหวัดของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และเป็นพื้นที่ที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ขณะที่แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ความต้องการใช้น้ำที่สูงขึ้น การอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ก็สำคัญ ต้องมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึง

นายอรุษ เทียนสว่าง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นศูนย์กลางของการผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี เพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ เกษตรกรรม และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคตะวันออก ปัจจุบัน (25 ม.ค.67) มีน้ำในอ่างฯ ประมาณ 226 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือ 76% ของความจุอ่างฯ ซึ่งปริมาณน้ำในภาพรวมมั่นใจว่าเพียงพอต่อทุกกิจกรรมการใช้น้ำของทุกภาคส่วนไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้อย่างแน่นอน

ด้าน นายจิรพงษ์ ศาสตร์แย้ม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานระยอง กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.ระยอง จะใช้อ่างเก็บน้ำประแสร์ สูบผันน้ำไปยังอ่างฯ คลองใหญ่ และผันน้ำต่อไปยังอ่างฯ หนองปลาไหล โดยใช้ระบบ Gravity หรือการไหลตามแรงโน้มถ่วงของโลก เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่รับประโยชน์ต่าง ๆ ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ นอกจากนี้ ยังมีระบบสูบกลับในกรณีที่มีฝนตกด้านท้ายอ่าง โดยใช้สถานีสูบน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งเป็นการสูบผันน้ำเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อตอบสนองการใช้น้ำทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดระยองได้อีกทางหนึ่งด้วย

และเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ จ.ระยอง กรมชลประทาน ได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ อาทิ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ อ่างเก็บน้ำคลองน้ำเขียว อ่างเก็บน้ำเขาจอมแห-เขานั่งยอง ตลอดจนการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำระโอก เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่พื้นที่ EEC ได้เป็นอย่างมาก