24 มกราคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมปาฐกถาพิเศษในงาน Thailand 2024 The Great Challenges เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายขยายโอกาส ในหัวข้อ “แม่น้ำ 4 สาย ขยายโอกาสคนไทย” โดยนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมเวที และมี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ)
รมว.ศธ. กล่าวในโอกาสปาฐกถาพิเศษว่า ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งก็ได้รับรู้ถึงปัญหามาโดยตลอด และได้มีโอกาสทำงานร่วมกับทีมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เรียนรู้ว่าควรจะทำอะไร ซึ่งได้เล็งเห็นว่าควรทำการศึกษาให้เท่าเทียมกัน เป็นแนวทางที่เฉลี่ยความสุขหรือการกระจายทรัพยากรที่มีร่วมกัน นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ต้องเริ่มจากมีความสุขก่อน ยิ่งโลกเปลี่ยนไปความสนใจของเด็กและเยาวชนก็เปลี่ยนไปตาม วิธีการสอนหรือสื่อการสอนของ ครูและบุคลากรทางการศึกษาประเทศเราต้องปรับเปลี่ยนในการดำเนินการด้วย
สิ่งที่เป็นผลงานที่ชัดเจน ณ เวลานี้คือการ “ยกเลิกครูเวร” ตามมติ ครม. ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้เล็งเห็นถึงภาระของครู เพราะการไปอยู่เวรอาจป้องกันทรัพย์สินได้แต่ยังคงมีความเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายอยู่ การยกเลิกครูเวรจะทำให้ลดความเสี่ยงในการสูญเสียบุคลากรที่มีประโยชน์ต่อประเทศได้ เป็นการลดภาระในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับการพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้ครูสามารถมีเวลาทั้งการพัฒนาตัวเองและเอาใจใส่นักเรียนให้บรรลุผล ทั้งเรียนดีและมีความสุขมากขึ้น และในตอนนี้จะมุ่งผลไปในทางลดภาระครูที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนทุกด้านให้มากที่สุด
ส่วนในด้านนโยบายการศึกษาเพื่อคุณภาพชีวิตและด้านทักษะต่าง ๆ เรามีทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ซึ่งนโยบายเรียนดีมีความสุขของเราแบ่งเป็นสองด้าน คือการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศกับการศึกษาเพื่อความมั่นคงในชีวิต บวกด้วยนโยบาย “ครูคืนถิ่น” เมื่อครูได้ย้ายกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวก็จะมีความสุข ได้ส
อนอย่างมีความสุข ลดภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงการแก้ไขหนี้สินครูที่เป็นการลดภาระด้วยเช่นกัน ส่วนการลดภาระของนักเรียนและผู้ปกครองคือการทำแพลตฟอร์ม “Anywhere Anytime” ขึ้นมา ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งเด็กนักเรียนที่ขาดโอกาสสามารถเรียนผ่านช่องทางนี้เพื่อสอบเทียบได้
และยังมีนโยบาย “Learn to Earn” ที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ด้านของอาชีวะมีการทำทวิภาคีในการเรียนด้วยและไปฝึกงานในสถานประกอบการ จะเป็นการเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายของนักเรียนและผู้ปกครอง เช่นเดียวกันกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ก็จะมาซ้ำเสริมในส่วนที่ไม่ได้อยู่ในภาคการเรียนในระบบปกติ สามารถเรียนนอกระบบโดยผ่าน สกร. ที่เป็นกระบวนการฝึกอาชีพ สามารถเรียนรู้ได้ทุกช่วงวัย ซึ่งการเรียนรูปแบบนี้ไม่ใช่เป็นการซ้ำซ้อนแต่เป็นการซ้ำเสริมมากกว่า เรียนแล้วไม่สูญเปล่าต้องมีงานทำ
สิ่งที่ต้องการเน้นย้ำในตอนนี้คือปลูกฝังให้เด็กมีความรักชาติ สามัคคี ความจงรักภักดีต่อสถาบัน ศธ.จึงได้ทำ MOU ร่วมกับ 4 หน่วยงานใหญ่ และเพิ่มความเข้มข้นในหลักสูตรประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง เพื่อทำให้เยาวชนเติบโตเป็นคนดีในอนาคต และปัจจุบันการสอนประวัติศาสตร์ไม่ใช่ท่องจำอย่างเดียว แต่เป็นการฝึกให้เด็กคิดวิเคราะห์ควบคู่กันไปด้วย ที่สำคัญคุณครูต้องมีทักษะในการสอนที่สนุกจะดึงดูดให้เด็กความสนใจในวิชานี้มากขึ้น
สุดท้ายนี้สิ่งสำคัญคือทิศทางการดำเนินการของ ศธ. ที่จะเป็นไปตามความต้องการของประชาชนของชุมชน และเราพยายามทำโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนคุณภาพทั้งหมด วันนี้มีนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” ซึ่งในแต่ละอำเภออาจจะมีมากกว่าหนึ่งโรงเรียนก็ได้ถ้ามีความพร้อม และจะส่งเสริมโรงเรียนละแวกใกล้เคียงแนะแนวเด็กมาเรียน โดยมีการจัดสรรค่าเดินทาง พร้อมสนับสนุนหากผู้เรียนสนใจจะเข้ามาเรียน เพราะเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ศธ.จึงสร้างนโยบายเพื่อตอบโจทย์ความสุขของผู้เรียนให้ได้มากที่สุด
“แนวความคิดของผมคือ ถ้ามีความสุข การเรียนก็จะดีขึ้น เพราะการมีความสุขสร้างการอยากเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการจะทำให้การศึกษาก้าวไกลไปไม่แพ้คนชาติใดในโลก จนเกิดเป็นหลักประกันอนาคตในวันข้างหน้าอย่างยั่งยืน” รมว.ศธ. กล่าว
#เรียนดีมีความสุข #การศึกษา #ขยายโอกาส #ลดความเหลื่อมล้ำ #เรียนฟรีมีรายได้ #เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา #การเรียนรู้ไม่สิ้นสุด #กระทรวงศึกษาธิการ