เกษตรฯ ผลักดัน “กาหยู” เกาะพยาม ระนอง สู่แผนพัฒนาการเกษตร ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต

วันที่ 22 มกราคม 2567 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และคณะผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ ตำบลเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมประชุมหารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างยั่งยืนบ้านเกาะพยาม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการระบบเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งได้มอบโฉนดเพื่อการเกษตรให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ จำนวน 14 ราย เพื่อเป็นการสร้างและขยายโอกาสในการบริหารจัดการที่ดินทำกินของเกษตรกรมากขึ้น รวมถึงมอบงบประมาณอุดหนุนโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการประมง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้แก่ “กลุ่มแม่บ้านกะปิเกาะเหลา” อีกทั้งได้มอบหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเรือไทยสำหรับประมงพื้นบ้าน จำนวน 2 ราย และมอบกล้าไม้เศรษฐกิจให้แก่ตัวแทนเกษตรกร จำนวน 14 รายตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในด้านการสร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตอีกด้วย นอกจากนี้ยังเยี่ยมชมนิทรรศการของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรเกาะพยาม ซึ่งได้สาธิตการคั่วเม็ดกาหยูแบบโบราณ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมการเกษตร ในการต่อยอดภูมิปัญญาเพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์พื้นถิ่น และเยี่ยมชมศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเกษตรพิรุณราช

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรเกาะพยาม และเกาะช้าง โดยบูรณาการร่วมทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และผู้นำชุมชน ท้องที่ท้องถิ่น เพื่อวางแผนยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยว ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำ ที่ดิน การพัฒนาผลิตภาพการผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มที่เชื่อมต่อการท่องเที่ยว ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะจัดทีมลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการ ปัญหา และความท้าทาย RRA (Rapid Rural Appraisal) และจัดทำแผนปฏิบัติการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอต่อไป

ด้าน นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตำบลเกาะพยาม เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมืองระนอง ตั้งอยู่ในทะเลฝั่งอันดามัน เป็นเกาะที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศ มีสัตว์ต่าง ๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น นกเงือก นกอินทรีย์ ตอนกลางของเกาะมีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขา ป่าไม้ พืชอัตลักษณ์ที่มีการปลูกมากบนเกาะพยามคือ มะม่วงหิมพานต์ ซึ่งชาวบ้านบนเกาะจะเรียกว่า “กาหยู” มีพื้นที่ปลูก 1,713 ไร่ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ และส่งเสริมให้เกษตรกรหันกลับมาปลูกพันธุ์ดั้งเดิมอย่างพันธุ์เกาะพยาม ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

นอกจากนี้ยังสนับสนุนการต่อยอดภูมิปัญญา “การคั่วเม็ดกาหยูแบบโบราณ” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่อยู่คู่ชุมชนมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนเกาะพยาม กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา และสำนักงานเกษตรจังหวัดระนอง ได้บูรณาการการทำงานในพื้นที่เพื่อผลักดันให้มะม่วงหิมพานต์ของเกาะพยาม ได้รับการรับรองเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำบรรจุภัณฑ์และสลากบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาต่อยอดความรู้เรื่องบรรจุภัณฑ์ การประชาสัมพันธ์ และการตลาด นอกจากนี้ยังมีการนำไปเชื่อมโยงกับแผนงานของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยในการพัฒนากลุ่ม อาทิเช่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเมืองระนอง และองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพยาม ได้จัดงานวันกาหยูเกาะพยาม ซึ่งเป็นงานประจำปีของเกาะพยาม กิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เช่น การประกวดเมล็ดกาหยูคุณภาพ การแข่งขันคั่วกาหยูโบราณ การแข่งขันกะเทาะกาหยู และการประกอบอาหารจากผลกาหยู