พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดระนอง ก่อนจะเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในวันที่ 23 ม.ค.โดยในช่วงเช้าได้เดินทางไปเป็นประธานพิธีเปิดสำนักงานทรัพยากรธรรชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และศูนย์ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมและรับฟังรายงานผลงานดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว ขณะที่ช่วงบ่ายได้ไปยังศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 3 เพื่อประชุมติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล) พร้อมกับตรวจเยี่ยมและรับฟังรายงานผลการดำเนินงานพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า จากการลงพื้นที่และรับฟังข้อมูลสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ทั้ง 6 จังหวัด ขอให้หน่วยงานดำเนินการ 11 ข้อ ดังนี้
1. โครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงาน ประกอบด้วย โครงการ มารีน่าชุมชน ยกระดับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเรือท่องเที่ยวชุมชนทะเลอันดามัน
2.โครงการติดตั้งท่าเทียบเรือลอยน้ำบริเวณอ่าวประมง เกาะหลีเป๊ะ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
3.โครงการสำคัญในพื้นที่ที่ให้หน่วยงานเร่งรัดดำเนินการ โดยให้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ได้แก่ โครงการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์พังงา (ด่านพญาพิพิธ) โครงการพัฒนาสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติด้านสัตว์ป่า โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โครงการติดตั้งท่าเทียบเรือลอยน้ำ บริเวณถ้ำมรกต หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคใต้ฝั่งอันดามัน (จังหวัดระนอง) โครงการป่าในเมืองประวัติศาสตร์สงครามโลก ครั้งที่ 2 จังหวัดระนอง
4. การดูแลนักท่องเที่ยวในพื้นที่ 6 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง ให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมของสถานที่ การดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว รวมถึงวางแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามขีดความสามารถ ในการรองรับ (Carrying Capacity) อย่างเหมาะสม รวมทั้งให้ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำด้วย
5. การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ขอให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทำแผนเพื่อแก้ไขปัญหา โดยให้ กรมทรัพยากรธรณี เข้าร่วมดำเนินการ กำหนดพื้นที่ มาตรการที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่
6. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่า – ป่าชายเลน ให้เร่งรัดจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเข้มงวด เฝ้าระวังและลาดตระเวนอย่างต่อเนื่อง
7.การแก้ไขปัญหาขยะทะเล ต้องแก้ไขปัญหาตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำ แผนการแก้ไขปัญหา ร่วมกับเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ทำความเข้าใจกับ อปท. ด้วย
8.พื้นที่จัดการขยะ ให้กรมป่าไม้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ สำรวจและจัดทำพื้นที่จัดการขยะในพื้นที่ป่า โดยประสานงานร่วมกับ อปท. เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างยั่งยืน
9. การพัฒนาพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง และพัฒนาพื้นที่ให้ประชาชน เยาวชน นักท่องเที่ยว เข้ามาศึกษาหาความรู้ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด
10.ขอความร่วมมือชาวประมงและชาวประมงพื้นบ้านทำการประมงอย่างระมัดระวัง ในช่วงฤดูวางไข่ (เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์) ตลอดจนตรวจตราเครื่องมือประมงที่วางข้ามคืน เพื่อช่วยลดผลกระทบของเต่าทะเลจากเครื่องมือประมง
11. การก่อสร้างสะพานที่เกาะพยาม ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจ ให้หน่วยงานเร่งรัดดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ในพื้นที่ทุกท่าน ให้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถช่วยกันเร่งรัดแก้ไขปัญหา เพื่อให้พี่น้องประชาชนอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมกับ 6 จังหวัดอันดามัน ที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 3 ได้เกิดไฟฟ้าดับกระทันหัน ทำให้พล.ต.อ.พัชรวาท ต้องรับฟังการรายงานการดำเนินงานภายนอกห้องประชุมท่ามกลางธรรมชาติ ใช้เวลาเกือบ 40 นาที โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างเป็นกันเอง