“สุดาวรรณ” เล็งยกระดับแหล่งน้ำพุร้อนของไทย เป็น “สปา ทาวน์” แบบยุโรป หรือ “ออนเซ็น ทาวน์”แบบญี่ปุ่น มอบกรมการท่องเที่ยวออกแบบ 7 เส้นทางท่องเที่ยวสายน้ำพุร้อนของประเทศไทย เพื่อสร้างแบรนด์สู่ตลาดสากล และกระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่จังหวัดระนอง พร้อมกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี เพื่อตรวจราชการที่จังหวัดระนอง ก่อนที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จังหวัดระนอง ในวันที่ 23 มกราคม 2567 ในโอกาสนี้จะได้ดูการบริหารจัดการบ่อน้ำร้อนรักษะวาริน ซึ่งเป็นบ่อน้ำแร่ร้อนแหล่งเดียวในประเทศไทย ที่ไม่มีสารกำมะถันเจือปนอยู่เลยทำให้ได้น้ำแร่ที่ใส ไม่มีกลิ่นกำมะถัน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เนื่องจากมีน้ำแร่คุณภาพดี ได้มาตรฐานสากล อยู่ใจกลางเมืองท่ามกลางธรรมชาติ รอบด้าน
ประเทศไทยมีแหล่งน้ำพุร้อน จำนวน 118 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 71 แห่ง รองลงมาเป็นภาคใต้ 32 แห่ง ภาคกลาง 12 แห่ง และภาคตะวันออก 2 แห่ง การใช้ประโยชน์พื้นที่มีทั้งการใช้ประโยชน์เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะ (แหล่งน้ำสาธารณะ) ของชุมชนหรือเมือง และการใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม แหล่งน้ำพุร้อนหลายๆ แห่ง ยังไม่มีการใช้ประโยชน์เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติสูง หรืออยู่ในพื้นที่ชนบทที่มีการเข้าถึงยาก ส่วนแหล่งน้ำพุร้อนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองนั้นได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งแช่และอาบน้ำพุร้อนของเมือง รวมทั้งพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดดึงดูดใจนักท่องเที่ยว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้กรมการท่องเที่ยว พัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยกระดับสู่ Spa Town แบบยุโรป หรือ Onsen Town แบบญี่ปุ่น เพื่อให้เป็นเศรษฐกิจน้ำพุร้อน (Hot Spring Economy) ของไทยที่มีศักยภาพและสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองรองที่รัฐบาลนี้มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สามารถยกระดับให้เป็นเมืองหลักของการท่องเที่ยวให้ได้ อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นของประเทศไทยถือว่าพัฒนาหลังประเทศในยุโรป และญี่ปุ่นกว่า 1,000 ปี จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำโดยเร่งด่วน
“การพัฒนาจะต้องเชื่อมโยงร้อยเรียงแหล่งน้ำพุร้อนในจังหวัดใกล้เคียงต่างๆ ทั้งระบบเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสายน้ำพุร้อน หรือสายเวลเนส ในเบื้องต้นมอบหมายให้กรมการท่องเที่ยวออกแบบเป็น 7 เส้นทาง หรือ 7 Hot Springs or Wellness Routes เพื่อสร้างแบรนด์การตลาดสู่ตลาดสากล และกระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง” พร้อมกันนี้ จะต้องสร้างองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติที่มีมาตรฐานสากลสอดคล้องกับการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) ให้สามารถนำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนธรรมชาติต่อไป ที่ขาดไม่ได้จะต้องทำการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถต่อยอดธุรกิจบริการสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำพุร้อนธรรมชาติ และพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ให้มีความรู้และทักษะในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และสามารถพัฒนา ต่อยอด และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนให้ได้