กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอสกู๊ปข่าว ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม และขอให้ตรวจสอบความโปร่งใสการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยจะกา อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน นั้น
กรมชลประทาน โดยสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 1 ขอชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยจะกาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีแผนงานก่อสร้างระหว่างปี 2566-2569 ลักษณะเป็นเขื่อนดิน ความจุประมาณ 1.92 ล้าน ลบ.ม. เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่การเกษตร เพื่อการอุปโภคบริโภค ครอบคลุมพื้นที่ หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ รวม 879 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 1,000 ไร่
สำหรับประเด็นข้อสงสัยต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ไม่มีการติดตั้งป้ายแสดงรายละเอียดโครงการฯ ขอชี้แจงว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ข้อ 2.1 ระบุว่า “กรณีงานก่อสร้างทุกประเภทซึ่งมีค่างานก่อสร้างตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ให้ติดตั้งแผ่นป้ายแสดงรายละเอียดที่เกี่ยวกับงานก่อสร้างไว้ ณ บริเวณสถานที่ก่อสร้าง โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขในสัญญาจ้างให้ผู้รับจ้าง เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการจัดทำและติดตั้งแผ่นป้ายดังกล่าว” ซึ่งโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยจะกา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นงานดำเนินการเองโดยสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 1 จึงไม่ต้องติดตั้งแผ่นป้ายดังกล่าว หากต้องการทราบข้อมูลรายละเอียดโครงการ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ณ อาคารที่ทำการชั่วคราว
ส่วนเครื่องจักรเครื่องมือ ที่เข้าไปดำเนินงานถูกมองว่าไม่ตรงตามคุณลักษณะเฉพาะ (Spec) นั้น ในสัญญา ทางสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 1 ได้ตรวจสอบการตรวจรับการเช่าเครื่องจักร ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 แล้ว พบว่าดำเนินการถูกต้องตามคุณลักษณะเฉพาะ(Spec) ที่กำหนด
ด้านการติดตั้งถังน้ำมันขนาดใหญ่ ได้รับอนุญาตให้ติดตั้งถังน้ำมัน ขนาด 9,000 ลิตร จากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลานแล้ว เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
สำหรับอาคารที่ทำการชั่วคราว แคมป์คนงาน และโรงเก็บพัสดุ ที่ถูกมองว่าไม่ได้มาตรฐาน นั้น อาคารต่าง ๆ ที่ก่อสร้างในขณะนี้เป็นอาคารชั่วคราว เมื่อดำเนินการก่อสร้างอ่างฯแล้วเสร็จ จะทำการรื้อถอนทั้งหมด ส่วนทำนบดินและอาคารประกอบ อาคารสำนักงาน รวมถึงบ้านพัก จะก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบรูป และหลักวิศวกรรม ให้เป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้าง สำหรับใช้เป็นอาคารที่ทำงานถาวรได้ในระยะต่อไป
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ จะปฎิบัติตามกฎระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำนั้น เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด