วว. ผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย โชว์ผลการดำเนินงานปี 2566 ตอบโจทย์ผู้ประกอบการครบวงจร

จากภาพรวมของตลาดเศรษฐกิจโลกที่มีการชะลอตัว ส่งผลให้หลายประเทศต้องปรับบริบทสังคมให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะสถานการณ์ภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ต้องพลิกฟื้นธุรกิจให้เติบโตและเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศอย่างยั่งยืน

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) รัฐวิสาหกิจใน สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มุ่งผลักดันนำผลงานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน และภาคอุตสาหกรรม ตามนโยบายรัฐบาลและนโยบาย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ”

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 ว่า วว. สร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการ โดยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ในรูปแบบการพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ “วว. JUMP” ที่ให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับการให้บริการแบบ One Stop Service ออนไลน์ 24 ชั่วโมง สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการได้อย่างทันท่วงที เพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

วว. ได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและพัฒนา อย่างเป็นรูปธรรมหลากหลายสาขา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เวชสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่พัฒนาจากพืชท้องถิ่นของไทย อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความดันจากสารเพปไทด์ที่สกัดจากรำข้าวหอมมะลิ ผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสารสกัดดอกดาหลา ผลิตภัณฑ์ซีรั่มจากสารสกัดถั่วมะแฮะ ซึ่ง วว. เป็นตัวแทนประเทศไทยส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้าร่วมประกวดในระดับเวทีระดับนานาชาติ สามารถคว้ารางวัลได้สำเร็จทั้งจากภูมิภาคเอเชีย ทวีปยุโรป และอเมริกา

นอกจากนี้ยังได้ขยายผลความสำเร็จการดำเนินโครงการ “ตาลเดี่ยวโมเดล” ณ จังหวัดสระบุรี ต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง โดยร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จัดสร้าง “ต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย” ณ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) แก้ปัญหาพลาสติกใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลในหลุมฝังกลบ เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 1,000 ตันต่อปี พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี สร้างมูลค่าเพิ่มต่อการจัดการขยะ ยกระดับคุณภาพของวัตถุดิบรอบสองตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ด้านการบริการอุตสาหกรรม วว. ดำเนินงานขยายขอบข่ายการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม New S – curve ของรัฐบาล อาทิ การทดสอบวัสดุสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและซ่อมอากาศยาน การทดสอบชีวกลศาสตร์การแพทย์ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบการยึดกระดูกสะโพกด้วยการเสริมซีเมนต์กระดูกไฮดรอกซีอาพาไทด์ การทดสอบความล้าของพื้นผิวข้อเข่าเทียมของกระดูกหน้าแข้ง (Tibial Tray) ตามมาตรฐาน ASTM F1800 การทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพตามมาตรฐาน OECD 301 (A-F) สำหรับเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดย วว. ให้บริการผู้ประกอบการได้ 2,447 ราย ให้บริการ MSTQ จำนวน 192,885 รายการ มีรายได้จากการให้บริการจำนวน 130 ล้านบาท รับรองคุณภาพตามระบบมาตรฐานสากลจำนวน 530 ราย ฝึกอบรมทางวิชาการบุคลากรภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐจำนวน 1,564 รายการ 63 หลักสูตร ให้บริการคำปรึกษาด้านวิศวกรรม ด้านวิชาการและการจัดทำระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ให้กับภาครัฐและเอกชน จำนวน 20 ราย

นอกจากการดำเนินงานวิจัย พัฒนา บริการอุตสาหกรรม แล้ว วว. ยังได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ โดยดำเนินโครงการงานบริการวิจัยและที่ปรึกษาจำนวน 117 โครงการ ยื่นจดสิทธิบัตร จำนวน 5 เรื่องและยื่นจดอนุสิทธิบัตร 58 เรื่อง ผลงานได้รับการตีพิมพ์ภายในประเทศ 19 เรื่อง และตีพิมพ์ระดับนานาชาติจำนวน 91 เรื่อง

วว. มุ่งเน้นนำผลงานไปใช้ประโยชน์เชิงสังคมผ่านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยลงพื้นที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่ประชาชนในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ อาทิ การพัฒนาผลผลิตไม้ดอกไม้ประดับและเครือข่ายนานาชาติตามแนวทางมาลัยวิทยสถาน ณ จังหวัดเลย นนทบุรี เชียงใหม่ ลำปาง และพื้นที่อื่นๆ การประเมินและการพัฒนาศักยภาพผลผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่นำร่องจังหวัดยากจน ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง กาฬสินธุ์ สกลนคร นครราชสีมา ร้อยเอ็ด มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีสะเกษ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส การส่งเสริมให้ความรู้การขยายเชื้อชีวภัณฑ์ในถังหมักและการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน จังหวัดเชียงราย พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาศักยภาพผลผลิตการเกษตรในพื้นที่นำร่องจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร นครราชสีมา และนราธิวาส เป็นต้น

ด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ วว. ดำเนินงานเชิงรุกแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ โดยมุ่งสู่เป้าหมายสากลของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SCGs เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อคิดเห็น การพัฒนาทักษะบุคลากรให้ก้าวไปสู่เวทีวิจัยระดับสากล ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการความร่วมมือด้านนโยบายและเทคโนโลยีควบคุมมลพิษทางอากาศ (Enhanced Capabilities to Adopt Innovative Technologies for City Air Pollution control in Selected Countries of the Asia-Pacific) ความร่วมมือเพื่อการจัดการขยะพลาสติก โครงการเทคโนโลยีระบบตรวจสอบและเฝ้าระวังโครงสร้างระบบขนส่งทางราง (Technical Cooperation for Research and Implementation of Railway Inspection and Monitoring Technology) เป็นต้น

จากการดำเนินงานของ วว. ในปี 2566 ดังกล่าว ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นมูลค่า 17,650.4561 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.6975 เท่า เมื่อเทียบกับเงินงบประมาณแผ่นดินที่ วว. ได้รับการจัดสรรในฐานะหน่วยงานวิจัยของประเทศ ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และชุมชน ผ่านระบบนิเวศนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างยั่งยืน นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการดำเนินองค์กร ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รองรับการวิจัยและให้บริการกับภาคธุรกิจและพี่ประชาชน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนในทุกมิติ