สานพลังพัฒนาสุขภาพปฐมภูมิ ‘เชียงใหม่’ ปลัด มท. ผนึกกำลังส่งเสริมการมีส่วนร่วม หวังท้องถิ่นตอบโจทย์ ปชช.หลังถ่ายโอน รพ.สต.

ปลัด มท. ร่วมพิธีลงนามการพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่นระหว่าง “อบจ.เชียงใหม่” กับหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ ภายใต้โครงการฯ “สช.-สวรส.” มุ่งพัฒนากลไกสานพลังความร่วมมือเพื่อสร้างบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่ตรงกับปัญหาของประชาชนในจังหวัด ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม จ.เชียงใหม่ และการพัฒนาพื้นที่นำร่อง (Sandbox) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น ที่สามารถจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิได้ตรงกับปัญหาของประชาชนในพื้นที่ จากการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่ อบจ.

 

ทั้งนี้ จ.เชียงใหม่ เป็น 1 ใน 6 จังหวัดทดลองนำร่องระบบอภิบาลด้านสุขภาพ ร่วมกับจังหวัดปทุมธานี นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา และภูเก็ต ในโครงการความร่วมมือระหว่าง สช. และ สวรส. โดยพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จะมีการสร้างรูปธรรมของกระบวนการพัฒนาและสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่ รพ.สต. ถ่ายโอน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.แม่ข่า ซึ่งเป็น รพ.สต. แม่ข่ายทำเรื่อง Cup Split โดยมุ่งเน้นงานส่งเสริมป้องกันโรคในพื้นที่ และ รพ.สต.บ้านร่มเกล้า ที่มุ่งสร้างตัวชี้วัดด้านสุขภาพของประชาชนแบบส่วนร่วม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เปิดเผยว่า การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ถือเป็นเรื่องที่ตนให้ความสำคัญและเห็นว่าการดำเนินการเรื่องนี้จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้กับสังคมไทย เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องของสุขภาพ แต่จะเป็นคำตอบของการทำให้พี่น้องประชาชนตามชุมชนหมู่บ้านทุกแห่งที่มีกว่า 80,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะหากทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันทำงานอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ภายใต้การมีทิศทางที่ถูกต้อง และมีผู้นำที่เข้มแข็งดังตัวอย่างใน จ.เชียงใหม่ นี้

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การดูแลสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนนั้น คำตอบจะอยู่ที่หมู่บ้าน หากบุคลากรการแพทย์เข้ามาร่วมทำงานอยู่กับ อบจ. ก็จะช่วยพัฒนาการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนได้แบบบูรณาการ เพราะ รพ.สต. จะไม่ใช่เพียงสถานที่กับบุคลากรการแพทย์ที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาสุขภาพอย่างเดียว แต่ต้องเป็นผู้ที่ก้าวล่วงลงไปถึงครัวเรือนของพี่น้องประชาชนในชุมชนหมู่บ้าน มุ่งให้การรักษาที่เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แสวงหาสาเหตุของโรค

ปลัด มท. ยังกล่าวอีกว่า การดูแลแยกส่วนแบบเจ็บก็รักษา ป่วยก็กินยา อาจไม่ใช่คำตอบของการมีสุขภาพที่ดี เพราะการเจ็บป่วยนั้นเกี่ยวพันไปตั้งแต่อาหารการกินที่ดี ปลอดภัย การมีที่พักผ่อน ออกกำลังกาย ฯลฯ ดังนั้นภาพทั้งหมดจึงอยากให้เกิดความยั่งยืน โดยภารกิจทั้งหลายอาจมอบให้ผู้ว่าฯ นายก อบจ. เป็น CEO ของจังหวัด แต่ขุนพลที่จะเป็น CEO ในระดับหมู่บ้านก็ต้องอยู่ที่ รพ.สต. และมีมดงานอย่าง อสม. ที่ดูแลประชาชนถึงครัวเรือน ช่วยกันเฝ้าระวังภัยสุขภาพ แนะนำด้านสุขอนามัยที่ดี ซึ่งนี่เป็นภาพของระบบบริการสาธารณสุขของท้องถิ่น ที่ดูแลคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ได้แบบบูรณาการและยั่งยืน

นายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร นายก อบจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าแม้ในช่วงแรกจะยังไม่รู้เรื่องของการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. รวมถึง อบจ. เองก็ยังไม่มีกองสาธารณสุข แต่เมื่อมีนโยบายการกระจายอำนาจในปี 2565 อบจ.เชียงใหม่ ได้มี รพ.สต. 62 แห่งจากจำนวน 267 แห่งในจังหวัด ที่สมัครใจถ่ายโอนมา ในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งถึงแม้ว่าในช่วงแรกจะพบเจอกับปัญหาอุปสรรคก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะได้มีการปรึกษาหารือร่วมกับผู้อำนวยการ รพ.สต. ทุกแห่ง รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อพยายามแก้ไขปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้น

“ในเบื้องต้นก็อาจมีปัญหาเช่นเรื่องของบุคลากร อย่าง รพ.สต.บางแห่งมี ผอ.ถ่ายโอนไปคนเดียว เราก็ได้พยายามแก้ไขโดยเปิดรับสมัครและบรรจุทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ ฯลฯ นอกจากนี้เชียงใหม่ยังได้เป็นจังหวัดที่นำร่องการจัดตั้งหน่วยบริการประจำที่เป็นคู่สัญญาในการจัดบริการปฐมภูมิกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือ CUP Split ได้สำเร็จถึง 10 แห่ง โดยในฐานะนายก อบจ. เราเล็งเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ ลดความแออัดในโรงพยาบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดในการเข้าถึงบริการของประชาชน” นายพิชัย ระบุ

ขณะที่ นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การที่คนจะมีสุขภาพดีได้ แม้ส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับการมีระบบบริการสุขภาพที่ดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะตัวของระบบสุขภาพนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการรักษาหรือการใช้ยาเท่านั้น หากแต่จะเกี่ยวข้องกับมิติทั้ง 4 ด้าน คือ สุขภาพทาง กาย จิต ปัญญา และสังคม ตามนิยามของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ยังได้มีการออกแบบเครื่องมือสำคัญเพื่อให้เกิดกระบวนนโยบายสาธารณะที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ ฯลฯ เพื่อไปหนุนเสริมการดูแลสุขภาพทั้ง 4 มิติ

“โรงพยาบาล ระบบการแพทย์ อาจไปดูแลในเรื่องโรคภัยยากๆ แต่คนที่จะจัดการเรื่องง่ายๆ ต้องกลับมาที่องค์กรที่มีความใกล้ชิดประชาชน คือท้องถิ่นที่น่าจะสามารถตอบสนองความต้องการ และดูแลคนในพื้นที่ได้ครบทุกมิติมากกว่า ภายใต้กลไกต่างๆ ในพื้นที่ เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ฯลฯ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ หากเรามาร่วมกันเดินหน้าการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. โดยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างระบบสุขภาพที่คนในพื้นที่อยากเห็น ทุกปัญหาเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขร่วมกันไปได้” นพ.สุเทพ ระบุ

ภายในงานเดียวกันนี้ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมด้วย นายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร และ นพ.สุเทพ เพชรมาก ยังได้ร่วมกันกล่าวคำประกาศเจตนารมณ์ พร้อมกับภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมภายในงาน ว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันดำเนินการในด้านต่างๆ ทั้งส่งเสริมให้เกิดการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จัดทำแผนและตัวชี้วัดด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วมที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ พัฒนาศักยภาพบุคลากรและทรัพยากรที่จำเป็นในการพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น รวมถึงสนับสนุนกระบวนการต่างๆ ด้วยเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้มีการจัดเวทีสานเสวนา “พลังความร่วมมือในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิจังหวัดเชียงใหม่และยุทธศาสตร์ร่วมของการพัฒนาระบบปฐมภูมิของประเทศ” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ที่มาร่วมให้ภาพทิศทางการดำเนินงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช., นพ.นิมิตร อินปั๋นแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่, นพ.ประภัสสร เจียมบุญศรี รองอธิการบดี สถาบันพระบรมราชชนก, นายกิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนายการบริหารชายแดนใต้ และที่ปรึกษาอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น เป็นต้น