เยาวชนไทย ร่วมฟื้นคืนระบบนิเวศโลก ผ่านโครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย ครั้งที่ 19 พร้อมคัดตัวแทนนักสื่อสารวิทย์ฯ ศึกษาดูงาน ณ ประเทศเยอรมนี

19 มกราคม 2567 / รศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM นายสมยศ เกียรติอร่ามกุล รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ด้านสร้างสรรค์และหลอมรวมเนื้อหา และคุณภควดี วงค์คำแสน ผู้ประสานงานทางด้านวัฒนธรรม สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ร่วมเปิดโครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย ครั้งที่ 19 (Young Thai Science Ambassador, YTSA#19) ในหัวข้อ “ฟื้น คืน ระบบนิเวศ Ecosystem Restoration” ภายใต้แนวคิด การปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศทั่วโลก  เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลลากรด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาให้มีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเรื่องราววิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยสามารถต่อยอด เป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวในแง่มุมต่าง ๆ อย่างมีคุณภาพ ณ ห้องแสงเทียน-แสงเดือน พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

รศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ถือเป็นหนึ่งหน่วยงานที่ผลักดันกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน รวมทั้งบ่มเพาะเยาวชนในการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศ เพราะวิทยาศาสตร์มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน ซึ่งต้องอาศัยนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีทักษะมาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนในสังคมได้เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สนุกสนานและเข้าใจง่าย ในการดำเนินงานโครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทยที่ผ่านมา เราได้รับการตอบรับจากเยาวชนผู้ที่ชื่นชอบการสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในครั้งนี้เรายังจะได้รับความสนใจร่วมกันถ่ายทอดวิทยาศาสตร์ผ่านรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น พร้อมทั้งได้สร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เพื่อให้ก้าวต่อไปเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทยและโลกในอนาคต”

ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวว่า “NSM มีภารกิจในการส่งเสริมสังคมไทยให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ พร้อมปลูกฝัง ถ่ายทอดองค์ความรู้ และสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน และประชาชนในสังคมให้มีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านการดำเนินการจัดกิจกรรมและนิทรรศการเพื่อให้ประชาชนและเยาวชนในทุกพื้นที่เข้าถึงข้อมูลและเกิดความสนใจในเรื่องราวด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น

นายสมยศ เกียรติอร่ามกุล รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า “ในฐานะองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคม และมีภารกิจด้านความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมหลากหลายกิจกรรมจำนวนมาก ที่พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ เราเล็งเห็นความสำคัญของการสื่อสารที่จะสามารถสร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งหวังว่าโครงการฯ นี้  จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการแบ่งปันองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ ๆ  การสื่อสารวิทยาศาสตร์จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ได้เข้าใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวมากยิ่งขึ้น  เพื่อทำให้ประชาชนได้รับรู้และตระหนักถึงปัญหาที่ล้วนเกี่ยวข้องต่อการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน”

คุณภควดี วงค์คำแสน ผู้ประสานงานทางด้านวัฒนธรรม สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย กล่าวว่า “สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย เป็นองค์กรระดับโลกที่มีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเยอรมัน – ไทย พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างสรรค์ด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย  ซึ่งสถาบันฯ ได้ร่วมจัดโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังในการพัฒนาเยาวชนให้เป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โดยการนำเอาความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์มาสื่อสารให้คนอื่น ๆ ทั่วไปได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มต้นทุนทางวิทยาศาสตร์ในสังคม และสามารถพัฒนาและต่อยอดวงการวิทยาศาสตร์ของไทยได้มากขึ้นอีกด้วย”

สำหรับโครงการฯ นี้ จะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ร่วมทำกิจกรรมการอบรมพัฒนาทักษะการสื่อสารวิทยาศาสตร์จากผู้ทรงคุณวุฒินักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานชั้นนำระดับประเทศ มาพบปะ พูดคุย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทูตเยาวชน อาทิ กิจกรรมปฏิบัติการ Science Communication Design การออกแบบการสื่อสารวิทยาศาสตร์ โดย ดร.ชนินทร์ สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการกองสื่อสารวิทยาศาสตร์ อพวช., กิจกรรมเทคนิคการพูดเพื่อเล่าเรื่อง โดย อาจารย์ชญาณี ฉลาดธัญญกิจ จากมหาวิทยาลัยสยาม และการบรรยายพิเศษ Inspired by Science Communicator โดย วิทยากรจาก TerraX: Lena Paul, Neslihan Feßler ประเทศเยอรมนี

ทั้งนี้ จะทำการคัดเลือกตัวแทนเยาวชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ให้เป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม จำนวน 4 คน ที่สามารถ่ายทอดองค์ความรู้และเรื่องราววิทยาศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ให้กับประชาชนทั่วไปได้มากยิ่งขึ้น และได้รับโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ณ ประเทศเยอรมนี ในเดือน ก.ค. 67 ต่อไป