“พล.ต.อ. พัชรวาท เข้ม” สั่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ป้องกันไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้กรมป่าไม้ ลงพื้นที่เพื่อสร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชนในจังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งประสานงานกับนายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าในช่วงฤดูแล้งนี้

นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า และปัญหา PM2.5 รวมถึงการลดจุดความร้อน (Hotspot) และข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือปัญหาไฟป่าและหมอกควันนั้น โดยในระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม 2567 ตนได้ลงพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน รวมทั้งประสานงานกับนายอำเภอแม่แจ่ม นายก อบต. ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น เพื่อให้ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรจากพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเผา เปลี่ยนมาเป็นการนำเศษวัสดุการเกษตร ตอซัง ใบไม้นำมาใช้ประโยชน์และเป็นการลดการเผาในพื้นที่ นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำในการปลูกจากเดิมคือการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นปลูกไม้ผลระยะสั้นที่ให้ผลผลิตไว สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมถึงการปลูกไม้ผลระยะยาว ไม้พื้นถิ่น ไม้ป่า เพื่อช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ และยังช่วยฟื้นฟูป่าต้นน้ำอีกด้วย

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่ง ที่ 229/2567 ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2567 มอบหมายให้รองอธิบดีกรมป่าไม้ทั้ง 3 ท่าน กำกับดูแลควบคุมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่วิกฤติ เพื่อป้องกันการสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ป่าไม้และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยมอบหมายให้นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ กำกับดูแลในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มอบหมายให้นายนิกร ศิรโรจนานนท์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กำกับดูแลในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา และมอบหมายให้นายสุพจน์ ภู่รัตนโอภา รองอธิบดีกรมป่าไม้ กำกับดูแลในพื้นที่จังหวัดน่าน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่วิกฤติให้มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ป่าไม้และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่