วันที่ 19 มกราคม 2567 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยมีประธานอนุกรรมการและอนุกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ทั้ง 11 สาขา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม ซึ่งมี ดร. มยุขพันธ์ุ ไชยมั่นคง ผู้อำนวยการโครงการประจำศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้นำเสนอร่างแผนการขับเคลื่อนฯ ดังกล่าว และมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สมาคมและภาคเอกชน คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาว์เวอร์แห่งชาติ องค์การระหว่างประเทศ ตลอดจนภาคสถาบันการศึกษา เข้าร่วมประชุม ณ ห้อง Grand Ballroom ชั้น 3 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์
นางยุพา กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ร่วมขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศ ภายใต้การมอบหมายจากรัฐบาลที่มุ่งเน้นสนับสนุนนโยบาย Soft Power เป็นนโยบายหลักของประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ตระหนักถึง “ศักยภาพ” และ “โอกาส” ของประเทศไทยในการใช้ทุนทางวัฒนธรรม ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม จึงดำเนินโครงการจัดทำแผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (พ.ศ. 2566 – 2570) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการจัดการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์ต่อ (ร่าง) แผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม ในวันที่ 19 มกราคม 2567 ณ ห้อง Grand Ballroom ชั้น 3 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ เป็นการระดมความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมฯ จากคณะอนุกรรมการพัฒนาซอฟต์พาว์เวอร์ ทั้ง 11 สาขา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สมาคมและภาคเอกชน ตลอดจนภาคสถาบันการศึกษา
นางยุพา กล่าวอีกว่า การจัดทำแผนฉบับนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่ได้มีการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพและข้อมูลทางการตลาดในมิติทางวัฒนธรรมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพของประเทศ จำนวน 7 ครั้ง ทั่วทุกภูมิภาค จากผู้เข้าร่วมกว่า 600 คน ซึ่งหลายท่าน ณ ที่นี้ อาจจะได้เคยเข้าร่วมในการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าว ต้องขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้ง ในส่วนของการสำรวจข้อมูลทางการตลาดในมิติทางวัฒนธรรมจากชาวต่างชาติ จำนวน 12 ประเทศ ใน 7 ภูมิภาคทั่วโลก จำนวนกว่า 3,600 คน ก็ได้รับผลลัพธ์ที่มีความน่าสนใจหลายอย่าง ที่จะสามารถนำมาพัฒนา ต่อยอด การขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศจำนวนหลายท่าน ซึ่งที่ผ่านมา วธ. ได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลผลการสำรวจข้างต้น ไปในหลายช่องทางและได้นำเสนอผลการสำรวจนี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 ซึ่งได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดียิ่ง
“วธ.จะนำข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) แผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรมฯ ในครั้งนี้จากทุกภาคส่วนไปปรับปรุงร่างแผนดังกล่าว ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้ทุนวัฒนธรรมของไทยเป็น Soft Power ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิผลและเห็นผลเป็นรูปธรรม” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว