กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะผู้ป่วยวัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และทานยาตามแผนการรักษาอย่างเคร่งครัด เตือนผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยหมั่นสังเกตตนเอง หากมีอาการไอแห้งๆ หรือมีเสมหะ หรือไอเป็นเลือด เรื้อรัง นานเกิน 2 สัปดาห์ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุที่แท้จริง
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง ผิวหนัง กระดูก แต่ส่วนมากจะเกิดที่ปอด เรียกว่า วัณโรคปอด สามารถติดต่อกันได้จากผู้ป่วยไอหรือจาม เชื้อวัณโรคจะปะปนออกมากับละอองเสมหะ หรือน้ำลาย หากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสูดรับเชื้อเข้าไป จะมีโอกาสป่วยเป็นวันโรคได้ แต่ไม่จำเป็นว่าผู้ที่ได้รับเชื้อทุกคนต้องป่วยเป็นวัณโรค เนื่องจากในร่างกายของทุกคนจะมีภูมิคุ้นกันที่สามารถต่อสู้กับเชื้อวัณโรคได้ แต่ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) ผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้นกันนานๆ (สเตรียรอยด์) จะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการบ่งชี้ของผู้ป่วยวัณโรคปอด คือ จะมีอาการไอแห้ง หรือไอมีเสมหะ ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ และบางครั้งอาจมีเลือดปน มีอาการเหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงหรือผอมลง มีไข้ต่ำๆ และมีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน เป็นต้น อย่างไรก็ตามวัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยผู้ป่วยต้องรับประทานยาตามแผนการรักษาต่อเนื่องจนครบ อย่างน้อย 6 เดือน หากขาดยาหรือไม่ได้รับประทานยา
อย่างต่อเนื่อง อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นวัณโรคชนิดดื้อยาได้ และหากผลการรักษาไม่ได้ตามเป้าหมาย โอกาสหายก็จะลดลง อีกทั้ง ยังต้องใช้เวลาในการรักษานานขึ้น และในระหว่างการรักษาผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้ดี โดยการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ไม่หยุดรับประทานยาเองแม้จะรู้สึกว่าอาการดีขึ้น และต้องมาตรวจตามนัดทุกครั้ง ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ลดความวิตกกังวลและขจัดความเครียด
งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ นอกจากนี้ไม่ควรละเลยสภาพแวดล้อมรอบตัวเพื่อสุขอนามัยของผู้ป่วย และเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น การใส่หน้ากากอนามัย หากไอ หรือจาม ควรปิดปาก ปิดจมูก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ที่พักอาศัยควรมีแสงแดดส่องถึง อากาศถ่ายเทสะดวก โดยการเปิดหน้าต่าง หรือประตู หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรืองดเดินทางโดยเครื่องบิน รถโดยสารปรับอากาศ แท็กซี่ และควรแยกของใช้ระหว่างผู้ป่วยกับผู้ที่ต้องอยู่ใกล้ชิด รวมถึงการกำจัดหรือแยกขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธี ทั้งนี้ควรพาคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ มาตรวจคัดกรองโรคหลังสัมผัสผู้ป่วยวัณโรค สำหรับการป้องกันไม่ให้กลับมาป่วยเป็นวัณโรคซ้ำ คือ การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ควรตรวจสุขภาพร่างกายปีละ 1-2 ครั้ง ลด ละ เลิก สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ หากมีอาการสงสัย หรือ ไอ ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการป่วย