ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดเวทีวิชาการโครงการครอบครัวพลังบวก ระหว่างวันที่ 18 – 19 มกราคม 2567 ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเปิดงาน คุณระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช บรรยายหัวข้อ “ความสำคัญของครอบครัวกับบริบทของสังคมไทย” และบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ความยั่งยืนของระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษาในชุมชน โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม การอบรมครั้งนี้ ได้รับความสนใจจาก บุคลากรจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายเชิงพื้นที่ 12 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 120 คน ณ ห้องประชุมไฮเดรนเยีย 1 ชั้น 6 อาคาร ทีเค แกรนด์คอนเวนชั่น โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
โครงการครอบครัวพลังบวก ดำเนินการสร้างพื้นที่รูปธรรมการเปลี่ยนแปลง ภายใต้โครงการ “ครอบครัวพลังบวก” โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ศูนย์คุณธรรม ได้ดำเนินการวิจัยในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดสุราษฎร์ธานี และดำเนินการขยายผลในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดราชบุรี จังหวัดแพร่ จังหวัดลำปาง จังหวัดพัทลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดบุรีรัมย์ ก่อเกิดแกนนำชุมชนพลังบวกมากกว่า 450 คน ก่อเกิดครอบครัวต้นแบบมากกว่า 200 ครอบครัว การขับเคลื่อนงานโครงการ ที่ผ่านมานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพื้นที่กลาง เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชื่อมโยงกันและกัน ให้เป็นพลังที่สำคัญ ที่จะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาประเทศ ซึ่งศูนย์คุณธรรมและภาคีเครือข่าย พิจารณาเห็นว่า โครงการฯ ควรจะมีเวทีกลางของตนเอง เพื่อเป็นพื้นที่ความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การชื่นชมยกย่อง และการสร้างกรอบความร่วมมือเพื่อการขับเคลื่อนงานที่เน้นความยั่งยืน บนฐานคุณธรรม ผ่านเวทีต่าง ๆ เชื่อมโยงไปสู่เวทีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ
ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ความร่วมมือกันระหว่างศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการพัฒนาการสื่อสารเชิงบวก/การสร้างวินัยเชิงบวก (Positive Discipline) ก่อเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายเป็นกลไกทางสังคม ก่อเกิดแกนนำชุมชน ที่มีความรู้ความเข้าใจ ทักษะ และเจตคติการเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาในชุมชน ก่อเกิดต้นแบบโครงสร้างระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษาในชุมชนตามแต่ละบริบทของพื้นที่ ตามแนวทางการพัฒนาศักยภาพแกนนำด้วย 5 ทักษะพื้นฐานสู่การเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาชุมชนด้วยจิตวิทยาเชิงบวก
ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม เน้นย้ำ การดำเนินงานโครงการ เปรียบเสมือนกลไกที่สำคัญในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ เพื่อสร้างการเชื่อมโยง และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และตัวแทนชุมชน โดยเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชน พัฒนาศักยภาพของคนท้องถิ่นเพื่อเป็นนักพัฒนาการมนุษย์ท้องถิ่นที่จะพัฒนากระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ ร่วมกับพี่เลี้ยงชุมชน จนเกิดทีมคณะทำงานที่มีทั้งผู้ใหญ่และแกนนำเด็ก เยาวชนที่พร้อมจะร่วมขับเคลื่อนงานสู่กลไกการมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาเครือข่ายผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ เมื่อเกิดความเข้มแข็งและพื้นที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนงานด้วยตนเองก็จะเกิดความยั่งยืนในการทำงาน โดยภาครัฐและเอกชนจะเป็นกลไกสนับสนุนที่สำคัญ
สำหรับผลการจัดงาน มุ่งหวังสร้างกรอบความร่วมมือเพื่อการขับเคลื่อนงานที่เน้นความยั่งยืน บนฐานคุณธรรมผ่านเวทีต่าง ๆ เชื่อมโยงไปสู่เวทีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติต่อไป