วันที่ 17 เดือน มกราคม 2567 ณ ห้องรับรอง ศูนย์ราชการอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคารเอ) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ
โดย พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กับ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ดร.รัชดา ไชยคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการย้ายถิ่นและการพัฒนา และผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คณาจารย์จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายเสกสิทธิ์ สวรรยาธิปัติ ผู้อำนวยการกองพัฒนาและสนับสนุนคดีพิเศษ คณะอาจารย์จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าหน่วยงานกรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าร่วมในพิธีลงนามครั้งนี้ด้วย ในการนี้ พันตำรวจเอกทวี ได้ปาฐกถาพิเศษในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่ผู้ร่วมงานเกี่ยวกับการขับเคลื่อน หลักนิติธรรมของกระทรวงยุติธรรมและรัฐบาลด้วย
บันทึกความตกลงความร่วมมือทางวิชาการนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนางานวิชาการ งานวิจัยการพัฒนาและสร้างเสริมบุคลากรด้านการอำนวยความยุติธรรมการให้ความร่วมมือด้านข้อมูลและองค์ความรู้ทางวิชาการ ร่วมกันเป็นเครือข่ายในการจัดกิจกรรม การประชุมทางวิชาการการอบรม สัมมนา การทำวิจัยเผยแพร่ความรู้ทางด้านวิชาการที่สามารถเผยแพร่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ อาทิ ข้อมูลผลงานทางวิชาการ เอกสารเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ วีดิทัศน์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ในด้านการป้องกันอาชญากรรมคดีพิเศษอย่างเป็นระบบส่งผลให้ผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมลดน้อยลง สังคมเกิดความสงบเรียบร้อยมากขึ้นและการให้บริการด้านวิชาการแก่สังคมซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of LAW)
กรมสอบสวนคดีพิเศษขอขอบคุณสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และกรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อให้นำไปสู่เป้าหมาย “ความยุติธรรมสำหรับทุกคน” อันเป็นบทบัญญัติใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 68 กำหนดให้รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า รวมทั้งการลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือฯ นี้ เป็นสัญลักษณ์ของการบูรณาการความร่วมมือที่ยั่งยืนระหว่างสองหน่วยงานต่อไป