ยะลา / ผอ.พอช. ‘กฤษดา สมประสงค์’ นำทีมผู้บริหาร ผู้นำภาคประชาชน จัดประชุมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ เช่น ศอ.บต. กอ.รมน. พมจ. เพื่อร่วมมือพัฒนาที่อยู่อาศัยประชาชนที่มีรายได้น้อยให้มีความมั่นคงและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทุกมิติ นอกจากนี้ พอช.ได้ช่วยเหลือมอบงบสร้างบ้านเรือนผู้ประสบภัยน้ำท่วม 3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาสกว่า 100 ครอบครัว
พอช. จัดประชุมบูรณาการความร่วมมือพัฒนาที่อยู่อาศัยประชาชน
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 เวลา 09.30 -12.00 น. ณ ห้องประชุมน้อมเกล้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดประชุมบูรณาการความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยให้มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย นำโดยนายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ และเจ้าหน้าที่ ตัวแทนกรรมการบริหารสถาบันฯ ภาคประชาชน หน่วยงานภาคีในพื้นที่ ผู้แทน กอ.รมน. ศอ.บต. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) หน่วยงาน One Home ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เข้าร่วมประชุมกว่า 40 คน
วัตถุประสงค์การประชุม ในครั้งนี้ เพื่อ 1. สร้างความเข้าใจแนวทางและการสนับสนุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยกลุ่มเปราะบางของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ 2. พัฒนางานโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ในการสร้างโอกาสการทำงานร่วมกัน (ข้อมูล คนทำงาน งบประมาณ) เพื่อสร้างความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยร่วมกัน และ 3. หารือแนวทางการทำงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยฯ เพื่อสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่
ผลจากการประชุมครั้งนี้ทำให้ได้ข้อสรุปแนวทางการทำงานที่สำคัญร่วมกัน คือ การบูรณาการความร่วมมือการทำงานในระดับจังหวัดร่วมกัน เพื่อยกระดับและสร้างกลไกการขับเคลื่อนงานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับจังหวัด (ขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่ กอ.รมน. ศอ.บต. หน่วยงาน One Home จังหวัด และ พอช.) โดยเริ่มจากการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในระดับจังหวัด ยกระดับการจัดทำแผนการทำงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในระดับจังหวัดสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติร่วมกันของทุกฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรมในระดับต่อไป
มอบงบช่วยเหลือภัยน้ำท่วมกว่า 100 ครอบครัว
จากนั้ันในช่วงบ่ายวันเดียวกัน (16 มกราคม) ที่มัสยิดตักวาละแอ ตำบลบาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ นำโดยนายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ ร่วมกับเทศบาลตำบลบาลอ ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดยะลา หน่วยงานภาคีในพื้นที่ จัดพิธีมอบงบประมาณโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเหตุภัยพิบัติและบูรณาการความร่วมมือการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในเขตเทศบาลตำบลบาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีนายโอฬาร บิลสัน ปลัดจังหวัดยะลา เป็นประธานในพิธี
กิจกรรมสำคัญในการจัดงานครั้งนี้ ประกอบด้วย เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนแนวทางบูรณาการความร่วมมือการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทนหน่วยงานร่วมแลกเปลี่ยน คือ 1.ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ 2.หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา 3.นายอำเภอรามัน 4.นายกเทศมนตรีตำบลบาลอ 5.ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองเบตง 6.ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพรามัน ดำเนินรายการ โดยนายธนภณ เมืองเฉลิม ผู้อำนวยการสำนักงานภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ
การเสวนาดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า ตัวแทนหน่วยงาน ท้องที่ ท้องถิ่น ต่างให้ความสำคัญในการเร่งรัดการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกัน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะสำเร็จได้ เพราะความร่วมมือของทุกฝ่าย จากทุกภาคส่วน การประสานงานช่วยเหลือ ให้ข้อมูลร่วม วางแผนการแก้ไขปัญหา ตลอดจนบูรณาการงบประมาณในแต่ละฝ่ายร่วมด้วยช่วยกัน หนุนเสริมส่วนที่ขาด เติมเต็มการทำงานร่วมกัน แต่ทั้งนี้จะสำเร็จได้นอกจากหน่วยงานหลายฝ่ายจะต้องร่วมมือกันแล้ว ผู้ประสบภัยเองก็ต้องเป็นกำลังหลักในการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
นายโอฬาร บิลสัน ปลัดจังหวัดยะลา ได้กล่าวให้กำลังใจแก่ผู้ประสบอุทกภัยพื้นที่ และเป็นประธานมอบงบประมาณสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ให้แก่ผู้ประสบภัยในอำเภอรามัน รวม 5 ตำบล จำนวน 33 ครัวเรือนๆ ละ 18,000 บาท รวม 594,000 บาท
ทั้งนี้เหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นภัยจากน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี มีผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 25 อำเภอ 142 ตำบล 806 หมู่บ้าน รวม 93,220 ครัวเรือน
ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้สนับสนุนงบประมาณการช่วยเหลือเพื่อซ่อมสร้างบ้านในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กรณีบ้านพังทั้งหลัง (รอบที่1) จำนวนทั้งสิ้น 98 หลังคาเรือน งบประมาณรวม 1,764,000 บาท โดยมีแนวทางสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยร่วมกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ เพื่อบูรณาการงบประมาณการสนับสนุนเพื่อซ่อมสร้างบ้าน และส่งต่อข้อมูลผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเพื่อวางแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป