สธ.-กลาโหม-กทม. ตั้งคณะอนุฯ 3 ชุด รุกงาน 30 บาทอัพเกรด เดินหน้า 1 จังหวัด 1 ค่ายทหารสุขภาพดี ร่วมบำบัดจิตเวช/ยาเสพติด

“หมอชลน่าน” ประชุม คกก.อำนวยการฯ ขับเคลื่อน 30 บาทอัพเกรด ที่มีทั้งกลาโหม กทม.และ สธ. เห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการฯ เดินหน้า 3 ประเด็น รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ. ให้จัดทำ MOU เพิ่มการเข้าถึงบริการ รพ.เขตดอนเมือง, 30 บาทรักษาทุกที่ รุกเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยบริการสังกัดกลาโหมในเฟสสอง และใช้ค่ายทหารบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช/ยาเสพติด พร้อมจัดทำ 1 จังหวัด 1 ค่ายทหารสุขภาพดี

วันที่ 16 มกราคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการประสานความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ (30 บาทอัพเกรด) เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พลเรือเอก สุพพัต ยุทธวงศ์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม และกรุงเทพมหานคร เข้าร่วม

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งแรก หลังจากได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 โดยมีตนและนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นที่ปรึกษา และมี ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดนี้แต่งตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือการทำงานระหว่างกระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ของรัฐบาล โดยที่ประชุมได้เห็นชอบการจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ 3 คณะ เพื่อประสานความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.นโยบายโรงพยาบาลกรุงเทพมหานคร 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล มี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อจัดทำแนวทางบริหารและพัฒนาหน่วยบริการที่ใช้ที่ดินในเขตพื้นที่ทหาร รวมถึงแนวทางพัฒนาระบบบริการรองรับนโยบายนี้ โดยจะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ รพ.ประจำเขตดอนเมือง คือ รพ.ทหารอากาศ (สีกัน) ให้แล้วเสร็จใน 60 วัน หรือวันที่ 15 มีนาคม 2567

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า 2.การขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว มี นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อบูรณาการความร่วมมือ จัดทำแนวทางเชื่อมโยงระบบข้อมูล รวมถึงกำกับติดตาม แก้ไขปัญหาอุปสรรคการขับเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ซึ่งจะมีการเดินหน้าระยะที่สองในอีก 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา โดยหน่วยบริการสังกัดกระทรวงกลาโหมจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและการบริการได้มากขึ้น และ 3.ระบบการดูแลสุขภาพจิต/ยาเสพติด ค่ายทหารสุขภาพดี และการจัดระบบบริการทางการแพทย์ร่วมกันในเขตสุขภาพ (One Region One Hospital) มี นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน โดยใช้สถานที่ในค่ายทหารรองรับผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาล แต่ยังไม่พร้อมกลับสู่ครอบครัว สังคมและชุมชน โดยทหารทำหน้าที่เสมือนญาติในการดูแลเตรียมพร้อมก่อนกลับคืนสู่สังคม และใช้โรงพยาบาลค่ายและค่ายทหาร เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมบางส่วนของระบบการบำบัดรักษาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx)

“นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์สุขภาพกำลังพลกองทัพบกประเทศไทย (2560-2564) พบว่า ความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มจากร้อยละ 42 เป็นร้อยละ 44 อัตราความชุกโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น อาทิ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน จึงได้เห็นชอบแนวทางค่ายทหารสุขภาพดี “1 จังหวัด 1 ค่ายทหารสุขภาพดี” โดยจัดตั้งองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพในค่ายทหารทั่วประเทศ ส่งเสริม ป้องกัน และรักษาโรค โดยใช้ระบบประเมิน ปรับเปลี่ยน ติดตาม รักษาตามหลักของเวชศาสตร์วิถีชีวิต และสร้างสิ่งแวดล้อมภายในค่ายทหารเพื่อเอื้อต่อสุขภาวะที่ดี” นพ.ชลน่านกล่าว