อย. ติวเข้มเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ ขับเคลื่อนสู่ “หน่วยงานที่เป็นเลิศด้านการจัดการเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ”

อย. จัดอบรมเจ้าหน้าที่ส่วนกลางและภูมิภาค เสริมสมรรถนะในการจัดการเรื่องร้องเรียน โดยเน้นเพิ่มทักษะจัดการปัญหาการโฆษณาและการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ พุ่งทะยานสู่หน่วยงานที่เป็นเลิศด้านการจัดการเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธานเปิดการอบรมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาและส่งเสริม “หน่วยงานที่เป็นเลิศด้านการจัดการเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 18 มกราคม 2567 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ ทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยเพิ่มทักษะในการทำงานเชิงรุก เสริมสร้างความรู้ ทักษะเกี่ยวกับการจัดการปัญหาการโฆษณาและการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการจัดการเรื่องร้องเรียน (Good Complaint Handling Practice: GCHP) และข้อกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อย. เพื่อให้งานด้านการจัดการเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับภูมิภาคมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ สร้างหน่วยงานที่เป็นเลิศด้านการจัดการเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับภูมิภาค

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการจัดการเรื่องร้องเรียน (Good Complaint Handling Practice: GCHP) เป็น หน่วยงานแรกของประเทศไทย และส่งเสริมให้หน่วยงานในระดับภูมิภาคนำหลักเกณฑ์ฯ นี้ไปใช้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการด้านการจัดการเรื่องร้องเรียนให้สามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ เป็นหน่วยงานที่เป็นเลิศด้านการจัดการเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ สร้างความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการ นำไปสู่กลไกที่ชัดเจนในการจัดการปัญหาโฆษณาและการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายผ่านช่องทางพาณิชย์ สามารถลดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทย ตามเป้าหมาย “ผู้บริโภคปลอดภัย ผู้ประกอบการพัฒนาไกล ระบบคุ้มครองสุขภาพไทยยั่งยืน”