วันที่ 15 มกราคม 2567 เวลา 08.30 น. นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพในหลักสูตรการดูแลคนพิการและผู้สูงอายุขั้นกลาง จำนวน 70 ชั่วโมง (caregiver) และผ่านการอบรมทางไกลสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ โรงแรมรอยัล ซิตี้ กรุงเทพมหานคร
นายกันตพงศ์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลคนพิการทั่วประเทศ ให้ความสำคัญในการคุ้มครอง ส่งเสริมสิทธิ สวัสดิการ และคุ้มครองกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนี้ 1) พัฒนาคน โดยเฉพาะบุคลากรของ พก. ได้แก่ Reskill Upskill Newskill เพื่อให้รู้จริง เข้าใจ ทำได้ และถูกต้อง 2) ทำงานในมิติส่งเสริม พัฒนา และคุ้มครอง 3) ยกระดับ พก. ให้เป็นเลิศ ส่งเสริมการดูแลคนพิการในทุกมิติ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มาตรา 20 ได้กำหนดให้คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ และผู้ดูแลคนพิการมีสิทธิได้รับบริการให้คำปรึกษา แนะนำ ฝึกอบรมทักษะการดูแลคนพิการ และเตรียมความพร้อมรองรับการดูแลคนพิการในสถานการณ์การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) ของประเทศไทย ซึ่งยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พก. ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาศักยภาพในหลักสูตรการดูแลคนพิการและผู้สูงอายุขั้นกลาง จำนวน 70 ชั่วโมง (caregiver) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างทักษะ ความรู้ และพัฒนาบุคลากรที่ดูแลคนพิการให้เป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตรการดูแลคนพิการและผู้สูงอายุขั้นกลาง จำนวน 70 ชั่วโมง และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับตามหลักสูตรไปปรับใช้ในการดูแลคนพิการได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยการอบรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย ภาคทฤษฎี จำนวน 30 ชั่วโมง ในระหว่างวันที่ 15 – 19 มกราคม 2567 แบบ onsite ณ โรงแรมรอยัล ซิตี้ กรุงเทพมหานคร และภาคปฏิบัติ 40 ชั่วโมง ดำเนินการระหว่างวันที่ 22 – 26 มกราคม 2567 แบบ online ผ่านทางไกลสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพและพัฒนาอาชีพคนพิการ เจ้าหน้าที่สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการ เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก และเจ้าหน้าที่ของกรมอนามัย จำนวน 45 คน พร้อมด้วย คณะวิทยากร จากกรมอนามัย กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมให้ความรู้