วันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 เวลา 10.30 น. นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดงาน วันอนุรักษ์และพัฒนากระบือปลักไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ และนายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นผู้กล่าวรายงาน วันอนุรักษ์และพัฒนากระบือปลักไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 14 มกราคม 2567 สำหรับ การจัดงานวันอนุรักษ์และพัฒนากระบือปลักไทยฯ ในครั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรเจ้าของกระบือจากทุกภูมิภาคของประเทศตื่นตัวในการพัฒนาสายพันธุ์กระบือของตนเอง ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เกิดความยั่งยืนต่อไป โดยภายในงานมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ภาคีเครือข่ายกระบือ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงาน ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาโคนม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนากระบือปลักไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสายพันธุ์กระบือปลักไทยให้มีลักษณะดี มีคุณภาพ เพิ่มจำนวนกระบืออันจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย โดยใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่นำกระบือไปใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตร ต่อยอดการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการอนุรักษ์สายพันธุ์กระบือปลักไทย การจัดงานวันอนุรักษ์และพัฒนากระบือปลักไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 ในครั้งนี้ จะทำให้เกษตรกรเจ้าของกระบือจากทุกภูมิภาคของประเทศตื่นตัวในการพัฒนาสายพันธุ์กระบือของตนเอง ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เกิดความยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมาเพิ่มมากขึ้น
ด้านนายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเสริมว่า กรมปศุสัตว์ และองค์กรต่างๆ ในพื้นที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์เขตทั่วประเทศ ได้สนองพระราชดำริร่วมดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย โดยได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมงานวันอนุรักษ์และพัฒนากระบือปลักไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 ขึ้นในระหว่างวันที่ 13-14 มกราคม 2567 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาโคนม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ภายในงานมีกิจกรรมการประกวดกระบือปลักไทย จำนวน 18 รุ่น กิจกรรมนิทรรศการจากภาครัฐ และกลุ่มเกษตรกร กิจกรรมการแสดงผลิตภัณฑ์และสาธิตการทำผลิตภัณฑ์จากกระบือไทย
การจัดประกวดกระบือปลักไทย ในครั้งนี้ มีกระบือเข้าร่วมประกวดจากทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งสิ้น 189 ตัว ประกอบด้วย
กระบือปลักไทยเผือก เพศเมีย จำนวน 18 ตัว
กระบือปลักไทยเผือก เพศผู้ จำนวน 27 ตัว
กระบือปลักไทยดำ เพศเมีย จำนวน 54 ตัว
กระบือปลักไทยดำ เพศผู้ จำนวน 90 ตัว
นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการต่างๆ จำนวน 3 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1) นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ การดำเนินงานโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ และโครงการอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย ภายใต้ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน โซนที่ 2) นิทรรศการวิชาการจากหน่วยงานภายใต้กรมปศุสัตว์ จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ การขึ้นทะเบียนกระบือปลักไทย การเลี้ยงดูกระบือปลักไทย อาหารสัตว์และพืชอาหารสัตว์สำหรับกระบือ การตรวจโครโมโซมฯ ในกระบือ การตรวจเร่งเนื้อแดงจากปัสสาวะกระบือ และโรคและการป้องกันที่สำคัญในกระบือ โซนที่ 3) นิทรรศการของกลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์/สมาคมฯ จำนวน 10 กลุ่ม และนิทรรศการมีชีวิต การแสดงพ่อพันธุ์กระบือปลักไทยต้นแบบ
ทั้งนี้ กระบือที่ได้รับการพิจารณาว่ามีลักษณะดีที่สุดในการประกวดในครั้งนี้ จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานถ้วยรางวัล ชนะเลิศยอดเยี่ยม (Grand Champion) กระบือปลักไทย จำนวน 2 รางวัล