เมื่อวันพุธที่ 10 มกราคม 2567 เวลา 15.00 น. ณ ศูนย์เฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย (FMC) กรมประมง นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง ให้การต้อนรับนายฉู ตง หยู (Mr. Qu Dongyu) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) และคณะในการเข้าเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย (Fisheries Monitoring Center : FMC) ในโอกาสเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 8-10 มกราคม 2567 เพื่อติดตามการดำเนินงานของสำนักงาน FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การดำเนินงานด้านการเกษตรและอาหารของประเทศไทย รวมถึงหารือความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยและ FAO กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า) เเละองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรของประเทศไทย นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับ นายฉู ตง หยู ผู้อำนวยการใหญ่ FAO และคณะ ซึ่งให้เกียรติเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการ FMC ของประเทศไทย ภายใต้มาตรการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง (Monitoring Control and Surveillance: MCS) และด้านการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงมาตรการของรัฐเจ้าของท่า (Port State Measure Agreement: PSMA) เช่น ระบบ VMS การควบคุมการขนถ่ายสัตว์น้ำการควบคุมท่าเทียบเรือ รวมถึงหารือเกี่ยวกับกิจกรรมของกรมประมงที่จะดำเนินการร่วมกับ FAO ในระดับภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืนในอนาคต
โดยกรมประมงได้แสดงให้ FAO เห็นถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานของ FMC ซึ่งดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบตลอด ๒๔ ชั่วโมง มาตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการควบคุม เฝ้าระวัง สั่งการ ติดตามผล และประสานการปฏิบัติการต่าง ๆ กับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการทำงานของ FMC ใช้ระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System ; VMS) โดยผ่านดาวเทียม และระบบสำแดงข้อมูลเรืออัตโนมัติ Automatic Identification System (AIS) เป็นเครื่องมือในการติดตามเรือประมง เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ และเรือสนับสนุนการประมงทั้งในและนอกน่านน้ำ ส่วนเรือประมงที่ไปทำการประมงหรือขนถ่ายสัตว์น้ำนอกน่านน้ำไทย FMC จะมีการติดตามเพิ่มเติมจาก VMS ผ่านระบบการเฝ้าติดตามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring System; EM) ระบบการรายงานทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Reporting System ; ERS) และระบบรายงานผู้สังเกตการณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Observer Reporting System ; ORS) และ FMC ยังดำเนินการภายใต้มาตรการของรัฐเจ้าของท่า PSMA และภายใต้โครงการริเริ่มของ FAO ที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ การปรับปรุงกฎหมายภายใต้พระราชกำหนดการประมง และกฎหมายลำดับรอง ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของมาตรการรัฐเจ้าของท่า PSMA การอัพเดทข้อมูลเรือประมงและเรือขนถ่ายของไทยที่ทำประมงนอกน่านน้ำ ในระบบ FAO Global Record ทุกไตรมาส และการใช้ระบบ Global Information Exchange System (GIES) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการปฏิเสธการเข้าเทียบท่าของเรือประมงต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพของศูนย์ปฏิบัติการ FMC ของไทยที่มีศักยภาพในการดำเนินงานและมีความทันสมัยที่สุดในระดับภูมิภาค ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำการทำประมงอย่างยั่งยืน และเป็นประเทศที่ปลอดจากสินค้าประมงและการทำประมงผิดกฎหมายทั้งระบบ
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ในการเยี่ยมชม ศูนย์ FMC ของผู้อำนวยการใหญ่ FAO ในครั้งนี้ได้มีการกล่าวถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทยที่มีการพัฒนาอย่างมาก ทั้งในรูปแบบการเลี้ยงเพื่อการบริโภคและการส่งออก รวมถึงการผลิตลูกพันธุ์สัตว์น้ำที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก หากมีการขยายการส่งออกลูกพันธุ์สัตว์น้ำไปยังประเทศใกล้เคียงในภูมิภาค จะก่อให้เกิดการพัฒนาการเพาะเลี้ยงในภูมิภาคได้เช่นกัน และ FAO มีความเต็มใจที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนในการพัฒนาความรู้ทางวิชาการและด้านอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประชากรในระดับภูมิภาคและระดับโลกในระยะยาวต่อไป