รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมบอร์ดระบบสุขภาพปฐมภูมิ เห็นชอบนำข้อเสนองานวิจัยไปพัฒนาระบบ หลังพบถ่ายโอน 4,275 แห่ง ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิแค่ 23% หนุนท้องถิ่น – คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ เร่งดำเนินการ ย้ำช่วงเปลี่ยนผ่านยังต้องจัดบริการมีคุณภาพ มาตรฐาน ประชาชนเข้าถึงได้ พร้อมรับทราบแผนเดินหน้างานปฐมภูมิปี 2567
วันที่ 8 มกราคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดย นพ.ชลน่านกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่พัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพ โดยออก พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 มุ่งเน้นพัฒนา 3 ด้าน คือ 1.ระบบการจัดบริการปฐมภูมิ เปลี่ยนจากดูแลเป็นโรค/อวัยวะ มาเน้นดูแล “คน” แบบองค์รวม โดยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคู่ประชาชน เป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพ 2.ระบบข้อมูลสารสนเทศ นำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ให้เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยบริการได้ รวมถึงคืนข้อมูลให้กับประชาชน และ 3.สร้างการมีส่วนร่วมจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ตามกฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจ
“ปี 2567 เป็นปีที่ 2 ของการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ (สอน.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ภารกิจและความท้าทาย คือ การพัฒนาและเป็นพี่เลี้ยงให้ รพ.สต. และ สอน. สามารถจัดบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ประชาชนเข้าถึงบริการได้โดยไม่ได้รับผลกระทบ และทำให้บริการสุขภาพปฐมภูมิเป็นบริการพื้นฐานของคนไทยทุกคน มีกลไกการเงินการคลังสุขภาพที่สนับสนุนการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับประชาชน และต้องเกิดความเท่าเทียมกันทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือ หลักประกันสุขภาพฯ ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ” นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงสถานการณ์ถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต./สอน. ซึ่งมีทั้งหมด 9,872 แห่ง ถ่ายโอนไปแล้ว 4,275 แห่ง โดยในจำนวนนี้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ (PCU/NPCU) ตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 เพียง 1,005 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 23.51 ยังไม่ขึ้นทะเบียนถึงร้อยละ 76.49 ซึ่ง อบจ.และคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ต้องให้การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาให้ รพ.สต.ในสังกัดสามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายฯ ตามมาตรา 30 ส่วนที่ขึ้นทะเบียนแล้วก็ต้องจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพมาตรฐานตามกฎหมาย และได้เห็นชอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย รับข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัย ที่ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ไปใช้ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังรับทราบแผนการขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2567 และนโยบาย “การแพทย์ปฐมภูมิ” ประกอบด้วย 3 โครงการสำคัญ คือ 1.โครงการตรวจเลือด รับยา Telemedicine ใกล้บ้าน 2.อำเภอสุขภาพดี และ 3.อสม.มีศักยภาพในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิขั้นพื้นฐานโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็น Smart อสม. โดยปี 2567 มุ่งยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการ ตั้งแต่ส่งเสริมป้องกัน ตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษา ส่งต่อ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งหมด ส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการ อำนวยความสะดวกด้วยบริการ Health At Home 9 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยสุขภาพจิตและสารเสพติด การดูแลแบบประคับประคอง ผู้ป่วยระยะกลาง ผู้ป่วยระยะยาว ผู้พิการ ผู้สูงอายุ บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และการควบคุมโรคติดต่อ พร้อมทั้งจะดำเนินการเพิ่มการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ ให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้บริการร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ