จากกรณีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีเรือนำเที่ยวชื่อ Happy Ours Phuket พานักท่องเที่ยวออกไปท่องทะเลใกล้กับเกาะพีพี แล้วเจอ “วาฬเผือก” ขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ 7 เมตร โผล่ขึ้นมาโชว์ตัว จนนักท่องเที่ยวบนเรือต่างก็ตื่นเต้น เนื่องจากวาฬนั้นจะหาดูได้ยากแล้ว สีของวาฬยังเป็นสีขาวทั้งตัว ซึ่งวาฬตัวนี้ไม่เคยพบเห็นในพื้นที่มาก่อน ซึ่งวาฬเผือกที่พบนี้ คุณประภากร ลิ่มมณี นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวได้บันทึกภาพไว้ได้โดยยังไม่ทราบว่าเป็นวาฬชนิดใด
ล่าสุดวันที่ 6 มกราคม 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ภายหลังจากได้ทราบข่าว เรื่องพบวาฬเผือก ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ลงพื้นที่เพื่อสำรวจสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากโดยเร็วที่สุด ด้าน ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) รับข้อสั่งการจาก รมว.ทส. ได้มอบหมายให้นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 ลงพื้นที่สำรวจพร้อมนำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจด้วย ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจในวันนี้ พบวาฬสีเผือก ตัวดังกล่าวเป็นวาฬโอมูระ อยู่ในพื้นที่บริเวณระหว่างหมู่เกาะพีพี และเกาะยาวใหญ่ จังหวัดกระบี่ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฯ ได้เก็บ eDNA วัดขนาดความยาว ศึกษาพฤติกรรม และการแพร่กระจาย พร้อมบันทึกภาพเพื่อระบุตัวตน นอกจากนี้ อทช. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเฝ้าระวัง แจ้งเตือนกับเรือต่างๆ ที่เข้ามาในบริเวณพื้นที่ที่พบ ให้ลดความเร็ว รวมถึงการกำหนดแนวทางการดูวาฬ โดยใช้ ข้อปฏิบัติสำหรับ การดูวาฬในอ่าวไทย และอาจจะมีการตั้งชื่อวาฬโอมูระเผือกอีกด้วย
วาฬโอมูระ เป็นสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยวาฬโอมูระเป็นวาฬขนาดกลางที่เป็นวาฬซี่กรอง มีลักษณะคล้ายวาฬบรูด้า แต่ต่างกันที่จำนวนสันบนหัว โดยวาฬโอมูระจะมี 1 สัน ส่วนวาฬบรูด้าบนหัวจะมี 2 สัน วาฬโอมูระสามารถพบได้บริเวณฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียและ ด้านฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ในประเทศไทย มีการพบวาฬชนิดนี้บริเวณ จังหวัดระนอง หมู่เกาะสิมิลันและหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และสามารถพบการเกยตื้นของวาฬโอมูระตลอดแนวชายฝั่งของประเทศไทย
ดร. ปิ่นสักก์ กล่าวว่า ในวันที่ 7 มกราคม 2567 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นำโดย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ในสังกัด ทช. จะร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สำรวจบริเวณดังกล่าว พร้อมนำเรือตรวจการณ์ และเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจ นอกจากนี้ จะสำรวจสัตว์ทะเลหายากชนิดอื่นเพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูล และกำหนดแนวทางการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเรือนำเที่ยว และเรือประมงในพื้นที่ ให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับเรือ ป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับวาฬดังกล่าวด้วย ซึ่งการปรากฏตัวของวาฬสะท้อนให้เห็นว่าระบบนิเวศทางทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ และสามารถแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทะเลชายฝั่ง รวมถึงสัตว์ทะเลหายากได้ตลอดที่ สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร. 1362