รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข” ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนการใช้แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพในระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ลดความสูญเสียของประชาชนจากภัยฉุกเฉินทุกรูปแบบ
วันที่ 4 มกราคม 2567 ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข” และมอบนโยบายประกาศใช้แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมี นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วม 70 คน
นายสันติ กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายต่อภาวะฉุกเฉินที่มีความรุนแรงและกว้างขวางหลายรูปแบบ ส่งผลกระทบต่อการยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ คุณภาพชีวิตและการดำรงชีวิตของประชาชน ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข พ.ศ. 2566 – 2570 ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การบริหารจัดการและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่การเตรียมพร้อมรองรับภาวะฉุกเฉิน การตอบโต้เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน และการฟื้นฟูภายหลังภาวะฉุกเฉินอย่างไร้รอยต่อ ช่วยให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพในระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ลดความสูญเสียของประชาชนจากภัยต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เป็นระบบ และทันต่อสถานการณ์
ด้าน นายแพทย์สุรโชค กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนปฏิบัติการฯ จัดทำขึ้นโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ ในการประมวล วิเคราะห์ จนนำไปสู่ 4 ยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ส่งเสริมการลดความเสี่ยงต่อสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน 2) บูรณาการระบบและให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัยอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ 3) เพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูด้านการแพทย์และสาธารณสุขหลังเกิดสาธารณภัย และ 4) พัฒนาศักยภาพและกลไกการบริหารจัดการเชิงบูรณาการทางการแพทย์และการสาธารณสุขระหว่างประเทศในภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัย ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้รับมือได้กับทุกภัยที่เกิดขึ้น ได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ประกาศใช้แผนดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา