วธ. เชิญชวนพุทธศาสนิกชน ร่วมทำบุญตักบาตร เสริมสิริมงคลวันขึ้นปีใหม่ เริ่มต้นพุทธศักราช 2567 พร้อมกันทั่วประเทศ

วันที่ 1 มกราคม 2567 เวลา 07.00 น. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในกิจกรรมตักบาตรรับปีใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคล พุทธศักราช 2567 โดยมี นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม เจ้าหน้าที่ ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เสริมสิริมงคลทั่วไทย ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับศักราชใหม่ 2567 ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2566 – 1 มกราคม 2567 โดยในส่วนกลางมีศูนย์กลางจัดงานที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดอรุณราชวราราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากภาคคณะสงฆ์ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน องค์กรเครือข่ายและประชาชนในชุมชน พร้อมใจกันสวดมนต์ข้ามปีอย่างยิ่งใหญ่ สำหรับกิจกรรมในวันที่ 1 มกราคม 2567 ประกอบด้วย พิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2567 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โอกาสนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้รับความเมตตาจาก สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญรับปีใหม่ด้วยการนำข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องอุปโภค บริโภค ตักบาตรพระสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลยังวัดใกล้บ้าน สำหรับส่วนภูมิภาค ได้ร่วมกับจังหวัด 76 จังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด องค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนท้องถิ่น สนับสนุนการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีและกิจกรรมตักบาตรรับปีใหม่ พ.ศ. 2567 เพื่อความเป็นสิริมงคลพร้อมกันทั่วประเทศ

สำหรับกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา กรมการศาสนาได้รวบรวมข้อมูลศูนย์ประสานงานสวดมนต์ข้ามปีระดับจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมกับสำนักงานสถิติของจังหวัด ประมวลผลการจัดงาน พบว่า วัด ศาสนสถาน ในกรุงเทพและส่วนภูมิภาคมีการจัดงาน จำนวนกว่า 30,000 แห่ง มีวัดในต่างประเทศจัดกิจกรรมมากกว่า 70 วัด และมีผู้ร่วมสวดมนต์ในวัด สถานที่จัดงานและผ่านทางระบบออนไลน์ รวมทั้งสิ้นกว่า 12 ล้านคน อันเป็นการแสดงถึงการร่วมอนุรักษ์ สืบทอดพระพุทธศาสนา และประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นที่มีคุณค่า ให้ดำรงอยู่ในทุกพื้นที่ด้วยความรัก ความสามัคคี และความมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่ง กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จวบจนถึงปัจจุบัน และได้รับความสนใจจากประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นทุกปี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่ออีกว่า กิจกรรมตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2567 จัดขึ้นเพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาและนำหลักธรรมคำสอนมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา สร้างบุญ สร้างกุศลด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ งดงาม ต้อนรับศักราชใหม่ เริ่มวิถีชีวิตใหม่ด้วยแสงแห่งธรรมนำทาง ซึ่งเป็นแสงแรกของปี 2567 อันจะส่งผลให้ได้พบสิ่งที่เป็นมงคล และเสริมสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวตลอดทั้งปี