นายอำเภอบ้านหมอ เปิดงานรณรงค์การผลิตและใช้แหนแดง ร่วมกับ งาน Field Day ปี 2567 พร้อมให้บริการ 3 สถานีเรียนรู้แบบเห็นของจริง หนุนเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตเพื่อเริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ครั้งต่อไป ณ ศพก.บ้านหมอ หมู่ที่ 4 ตำบลบางโขมด อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี
วันที่ 22 ธันวาคม 2566 นายสุรเดช สร้อยอุทา นายอำเภอบ้านหมอ เป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์การผลิตและใช้แหนแดง และงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ภายใต้โครงการวิจัยการเกษตร “ขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร” ประจำปี 2567 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอบ้านหมอ หมู่ที่ 4 ตำบลบางโขมด อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี โดยกล่าวว่า สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านหมอ ร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี และคณะกรรมการ ศพก.อำเภอบ้านหมอ จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เข้ามาเรียนรู้ รับทราบเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ ข้อมูลข่าวสาร การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรด้วยกันเอง รวมทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายและผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวนทั้งสิ้น 160 ราย การจัดงาน Field Day ถือเป็นสัญญาณของการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ฤดูกาลผลิตใหม่ที่เหมาะสมของเกษตรกร เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรได้วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น จะได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่มายึดถือปฏิบัติและขยายผล ซึ่งจะทำให้พี่น้องเกษตรกรมีความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การจัดงานแต่ละครั้งจะมีหน่วยงานเข้ามาให้บริการด้านการเกษตรตามภารกิจ และมีฐานเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงเทคโนโลยี แหล่งข้อมูลความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจหลักของพื้นที่นั้น ๆ ได้แก่ ข้าว พืชไร่ พืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น ปศุสัตว์ และประมง เป็นต้น
นายทองสุข อ่อนละมัย ประธาน ศพก.อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า การจัดงานรณรงค์การผลิตและใช้แหนแดง และวัน Field Day ครั้งนี้ มีสถานีเรียนรู้หลัก จำนวน 3 สถานี คือ 1. เรื่อง การหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร 2. เรื่อง การปรับปรุงบำรุงดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินสระบุรี และ 3. เรื่อง เทคโนโลยีการผลิตและใช้แหนแดงในนาข้าว โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่ซึ่งสินค้าหลัก คือ ข้าว สามารถเพิ่มประสิทธิภาพไการผลิตสินค้าเกษตรและได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีฐานเรียนรู้รอง จำนวน 4 สถานี ได้แก่ 1. เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง โดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสระบุรี 2. เรื่อง การจัดทำบัญชีครัวเรือน โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สระบุรี 3. เรื่อง การเลี้ยงเป็ดและไก่ไข่ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี 4. เรื่อง การเลี้ยงปลาและกบในกระชัง โดยสำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี รวมทั้งการให้บริการความรู้ด้านอื่น ๆ ในรูปแบบนิทรรศการ ได้แก่ ความรู้เรื่องสินเชื่อเพื่อการเกษตร และการพักชำระหนี้เกษตรกร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาอำเภอบ้านหมอ ภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ไทเกอร์โดรน จำกัด, ส.เกษตรภัณฑ์ และร้านไทยถาวรการเกษตร รวมทั้งการออกร้านจำหน่ายสินค้าของวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร Smart Farmer/Young Smart Famer ในพื้นที่
ด้านนายปรีชา สายแสง เกษตรจังหวัดสระบุรี เผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้เปิดตัวโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร อันเนื่องมาจากสถานการณ์ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงและผันผวน จึงมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ปรับปรุงความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสม ใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน (ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ) และใช้พืชปุ๋ยสด มีการรณรงค์ให้มีการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) เป็นต้นแบบและกลไกในการขยายผลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการจัดการดินและปุ๋ยอย่างเหมาะสมสู่ชุมชน ซึ่งเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยแพงในขณะนี้ คือ การผลิตและใช้แหนแดง สำหรับ “แหนแดง” เป็นเฟิร์นลอยน้ำชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก เปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพ เนื่องจากมีกระบวนการตรึงไนโตรเจนของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง ทำให้แหนแดงมีประโยชน์ในด้านทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน โดยกรมวิชาการเกษตรได้แนะนำให้เกษตรกรใช้แหนแดง สายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ มีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า เพาะเลี้ยงได้ง่าย เจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็วเป็น 2 เท่า จากเดิมภายในเวลา 3 – 5 วัน ซึ่งการใช้แหนแดงจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ปรับปรุงโครงสร้างดินดีขึ้นในระยะยาว เป็นการช่วยดูแลฟื้นฟูทรัพยากรดิน สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาล โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับแหนแดงขณะนี้ได้ขยายผลสู่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร นำร่องในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี สมุทรสงคราม ระยอง กาฬสินธุ์ สุรินทร์ พังงา พัทลุง กำแพงเพชร และพะเยา ดำเนินการผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่ได้รับรางวัลดีเด่นในการประกวด ศดปช.ระดับเขต หรือระดับจังหวัดในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็น ศดปช. ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการขยายผลสู่ชุมชน
ปัจจุบันสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี และสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านหมอ ได้สนับสนุนให้ ศพก.อำเภอบ้านหมอ ร่วมกับ ศดปช.ตำบลบางโขมด ดำเนินการผลิตแม่พันธุ์แหนแดงเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรสมาชิก และเกษตรกรทั่วไปที่สนใจนำไปขยายพันธุ์และใช้ประโยชน์ โดยขณะนี้มีบ่อผลิตแม่พันธุ์ จำนวน 50 บ่อซีเมนต์ มีจุดเรียนรู้ 3 แห่งในพื้นที่ตำบลบางโขมด และมีเกษตรกรสมาชิกผลิตขยายพันธุ์แหนแดง จำนวน 30 ราย อีกทั้งมีการจัดทำแปลงศึกษาการใช้แหนแดงในนาข้าว เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจสามารถผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ