สมาคมคหเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (คศท.) จัดประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 17 ภายใต้หัวข้อ “พลิกฐานคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คหกรรมศาสตร์ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน” (Transforming the creative economy of home economics towards sustainable quality of life development) ระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคม 2566 ณ หอประชุมราชมงคล มทร.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มทร.ธัญบุรี เปิดเผยว่า รศ.ดร.สาคร ชลสาคร นายกสมาคมคหเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้จัดประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 17 ภายใต้หัวข้อ “พลิกฐานคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คหกรรมศาสตร์ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน” โดยมีเครือข่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศมาร่วมงาน และได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ท่านภาสกร บุญญลักษม์ เป็นประธานในงาน นอกจากนี้ยังมีการปาฐกถาพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านคหกรรมศาสตร์ การนำเสนอผลงานทางวิชาการ ผลงานทางวิชาชีพ การบริการวิชาการ การมอบทุนพระราชทานคหวัฒนา การประกวดผู้ประกอบการนวัตกรคหกรรมศาสตร์ และการประกวดวิชาชีพคหกรรมศาสตร์ และมีพิธีสนองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แก่ผู้ได้รางวัลประกวดวิชาชีพคหกรรมศาสตร์ รวมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดนี้ มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับนโยบายของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านนวัตกรรม และยังสอดคล้องกับนโยบายของคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ร่วมด้วย ที่สำคัญหลายกิจกรรมยังเป็นไปในทิศทางที่ มทร.ธัญบุรี เน้นย้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ นั่นคือการบริหารจัดการด้วยนวัตกรรม
ขณะที่ รศ.ดร.สาคร ชลสาคร นายกสมาคมคหเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า การจัดประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 17 นี้ มุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผ่านเวทีการประชุมวิชาการระดับชาติภายใต้ประเด็นหลักเกี่ยวกับสาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ทั่วไปและศิลปประดิษฐ์ รวมถึงสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ศึกษา การศึกษาปฐมวัย พัฒนาการมนุษย์และครอบครัว ขณะเดียวกัน คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ได้จัดโครงการเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์กับวัฒนธรรมไทยประจำปี2557 ร่วมด้วย เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยนวัตกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาทางด้านวิชาการ ที่จะก่อเกิดเป็นความก้าวหน้าหรือวิทยาการใหม่ ๆ ผ่านการประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการพัฒนา อีกทั้งเป็นการสนับสนุน รักษา ส่งเสริม เพื่อให้คงไว้ตามแบบฉบับด้านศิลปะ มรดกทางวัฒนธรรม ในบริบทของวิชาชีพด้านคหกรรมศาสตร์ ผู้สนใจสามารถเข้าดูเพิ่มเติมที่ https://thea.or.th/thea-conference-2023/