เมื่อวันอังคารที่ 31 กรกฎาคม 2562 เวลา 10.30 น. ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดกรวยฯ และถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และมอบปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรและผู้แทนจิตอาสา มอบบัตรดินดีแก่เกษตรกรโครงการเกษตรวิชญา มอบหมวกแก่มัคคุเทศก์น้อยโรงเรียนบ้านกองแหะ มอบต้นไม้แก่เกษตรกรโครงการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ มอบเมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์พืช แก่เกษตรกรบ้านกองแหะ มอบพันธุ์ปลา แก่เกษตรกรโครงการเกษตรวิชญา มอบบัญชีครัวเรือนแก่ปราชญ์เกษตรโครงการเกษตรวิชญา และตรวจเยี่ยมคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ นิทรรศการปราชญ์แห่งการเกษตร ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ และปลูกต้นรวงผึ้ง(ต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10) จำนวน 210 ต้น ณ โครงการเกษตรวิชญา บ้านกองแหะ หมู่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชึยงใหม่
โอกาสนี้ นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวต้อนรับ นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวรายงานความเป็นของโครงการฯ นายรัตนะ สวามีชัย รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นางสาววรรณพร ดอกจำปา ผู้ตรวจราชการกรม ว่าที่ร้อยตรีประเทือง ฉ้ตรอินตา ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ นางสาวพอใจ คล้ายสวน ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษ นางสาวพรพรรณ ภูวนธรรม นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มตรวจและประสานราชการ นางสาวรสคำ ดำดิบ นักวิชาการปฏิรูปที่ดินชำนาญการ กลุ่มยุทธศาสตร์และการปฏิรูปที่ดิน ร่วมในพิธีและนำชมบูธโครงการเกษตรวิชญา ตามพระราชดำริ (ธนาคารอาหารชุมชน) ของสำนักงานการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ด้วยโครงการเกษตรวิชญา เป็นโครงการในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ เนื้อที่ 1,350 ไร่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้ในกิจการของทางราชการอันก่อให้เกิดประโยชน์เป็นส่วนรวมต่อหน่วยราชการ สถานศึกษา และราษฎร และพระราชทานนามว่า “เกษตรวิชญา” ซึ่งหมายความว่า “ปราชญ์แห่งการเกษตร” จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูง และขยายผลสู่เกษตรกร ตลอดจนเป็นต้นแบบการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารธรรมชาติ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในพื้นที่โครงการเกษตรวิชญาแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย ศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรบนพื้นที่สูง ธนาคารอาหารชุมชน พื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า แปลงเกษตรกร และพื้นที่ทรงงาน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินเขาและภูเขาสูง จากเดิมเป็นการทำเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย จนกระทั่งได้รับพระราชทานพื้นที่ และมีการจัดทำผังแปลงที่ทำการเกษตรให้เกษตรกรหมู่บ้านกองแหะ จำนวน 60 ราย มีเกษตรกรทำกินในพื้นที่แปลงดังกล่าว จำนวน 54 ราย มีการจัดทำระบบกระจายน้ำ เกษตรกรสามารปลูกพืชผักได้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น