นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้บุคลากรแต่ละระดับมีความพร้อมในการปฏิบัติงาน และการพัฒนาองค์กรเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” มีการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรตลอดกระบวนการผลิต ด้วยการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมที่เหมาะสมเข้ามาร่วมในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ครอบคลุมพื้นที่ คน สินค้า และการขับเคลื่อนงานที่ตอบโจทย์ BCG Model ซึ่งการดำเนินงานด้านอารักขาพืชนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการยกระดับภาคการเกษตรให้สูงขึ้น โดยการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้สามารถเป็นวิทยากรกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตรร่วมกับเกษตรกรตลอดฤดูกาลผลิต พัฒนาให้สินค้ามีคุณภาพ สิ่งแวดล้อมสมดุลและเกิดความยั่งยืน ตลอดจนพัฒนาให้เกษตรกรยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันได้
“กรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ได้ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูกาลผลิต ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรเกิดการเรียนรู้ มีความเข้าใจอย่างแท้จริง ตลอดจนพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทำหน้าที่เป็นวิทยากระบวนการ (Master Trainer : MT) และวิทยากรพี่เลี้ยง (Facilitator) ในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านอารักขาพืชให้กับเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพวิทยากรกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร รุ่นที่ 1 ภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรขึ้น ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านอารักขาพืช จำนวน 85 คน เข้าร่วม ” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านอารักขาพืช มีการโยกย้ายสับเปลี่ยน และเป็นข้าราชการบรรจุใหม่ จบการศึกษาหลากหลายสาขา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาเรียนรู้เพิ่มเติมทักษะเกี่ยวกับการเป็นวิทยากรกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรให้แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานอารักขาพืช ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) และองค์กรเกษตรกรอื่น ๆ ในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง โดยมีวิทยากรผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์มาถ่ายทอดความรู้ ให้คำแนะนำ และฝึกปฏิบัติ ได้แก่ ข้าราชการบำนาญจากกรมส่งเสริมการเกษตร วิทยากรจากกรมวิชาการเกษตร และวิทยากรจากกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรคาดหวังว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ได้รับความรู้ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติงานในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป