กรุงเทพฯ 19 ธันวาคม 2566 – เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ทรู ลีสซิ่ง เอสซีจี โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (โตโยต้า) และ Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (CJPT) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อเร่งความร่วมมือในการมุ่งสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย โดย MOU นี้เกิดขึ้นจากความสำเร็จในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลจากความพยายามร่วมกันของทุกฝ่าย รวมถึงประสิทธิภาพด้านการขนส่งของซีพี และเอสซีจี และการใช้ยานยนต์จากพลังงานที่หลากหลายตามความต้องการในประเทศไทย
ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ดีและความเชื่อมั่นระหว่างนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และนายอากิโอะ โตโยดะ ประธานบริษัท โตโยต้า (ในขณะนั้น) ซีพี ทรู ลีสซิ่ง เอสซีจี โตโยต้า และ CJPT ได้เริ่มต้นดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านข้อมูล ด้านการเดินทาง และด้านพลังงาน โดยพิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยนำมาซึ่งความสุขให้แก่ชาวไทย 67 ล้านคนภายใต้แนวคิด “เริ่มจากสิ่งที่สามารถทำได้ ณ เวลานี้ ร่วมกับพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน”
โดยการลงนาม MOU ครั้งนี้ ประกอบด้วย นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ กับ นายโคจิ ซะโต ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี นายฮิโรกิ นากาจิมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (CJPT) และ นายขจร เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู ลีสซิ่ง จำกัด โดยมี นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้บริหารระดับสูง ร่วมหารือและเป็นสักขีพยานในช่วงก่อนพิธีลงนาม
สำหรับ“โซลูชันด้านการใช้ข้อมูล” ได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า คือประสิทธิภาพของการโหลด และปรับเส้นทางในการจัดส่งอย่างเหมาะสม ด้วยการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ด้านการค้าปลีกและการขนส่งของแม็คโคร ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มซีพีรวมถึงเอสซีจี ตลอดจนการนำข้อมูลด้านการขนส่งและยานยนต์มาใช้เพื่อนำมาทดลองกับร้านค้าที่เราดำเนินการทดสอบส่งผลให้ขณะนี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง15% (*1)
สำหรับ “โซลูชันด้านการเดินทาง” หลังจากที่ โตโยต้า มีการเปิดตัวยานพาหนะที่มีความหลากหลาย รวมทั้งรถบรรทุกที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEVs) รถกระบะไฟฟ้าต้นแบบ Hilux Revo BEV Concept รถ Japan Taxi LPG-HEV และรถตู้ขนาดเล็กเพื่อการพาณิชย์ (Kei) โดยการใช้งานจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับการขนส่งในแต่ละประเภทและในแต่ละวัน สำหรับโครงการความร่วมมือครั้งนี้ มีการใช้รถพลังงานไฮโดรเจน และรถตู้ขนาดเล็ก ในธุรกิจค้าปลีกของ กลุ่มซีพี และเอสซีจี ซึ่งส่งผลให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ68 ตันต่อปี (*2) นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จในการริเริ่มการใช้โดรนไฮโดรเจนต้นแบบสำหรับหว่านเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และงานอื่นๆ ในพื้นที่เกษตรของซีพี
ในส่วนของ “โซลูชันด้านพลังงาน” เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการเปิดตัวเครื่องผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากฟาร์มไก่ไข่ของซีพีเอฟและอาหารเหลือทิ้งจากโรงอาหารของโตโยต้า โดยนำพลังงานนั้นมาใช้กับรถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจนและโดรนไฮโดรเจนรวมไปถึงการแข่งรถที่จะมีขึ้นในปลายเดือนธันวาคม นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเริ่มโครงการสาธิตการจัดการพลังงาน โดยใช้ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) และระบบการจัดเก็บพลังงานในแบตเตอรี่
ก้าวต่อไป โตโยต้ามีแผนที่จะนำรถยนต์ HEV หรือ รถตู้ขนาดเล็กเพื่อการพาณิชย์ “Kei” ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมไทยในปัจจุบันพร้อมทั้งในอนาคตจะมีการนำรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEVs) และรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแบบไฟฟ้า (BEV) มาเพิ่มเติมเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายใต้แนวคิด “การเดินทางที่หลากหลาย” จากโตโยต้า
ทั้งนี้ ความท้าทายต่อไปคือการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน และการลดต้นทุนในกระบวนการทั้งหมดของขั้นตอน “การผลิต” “การขนส่ง” และ “การใช้” พลังงานโดยการใช้ พลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับสภาพ และการใช้งานในประเทศไทย
นอกจากนี้ เพื่อปรับปรุงให้การขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการใช้ข้อมูล จะมีการนำข้อมูลด้านค้าปลีก และขนส่งจาก ซีพีและเอสซีจี รวมถึงการนำเทคโนโลยี “Digital Twin” (การสร้างโมเดลเสมือนจริงจากพื้นที่จริง) ของโตโยต้า มาเพิ่มประสิทธิภาพของ “การเดินทาง การขนส่ง และพลังงาน” โดยร่วมมือกับระบบทางสังคม เช่น การจัดการพลังงานและการควบคุมการจราจร เป็นต้น
ภายใต้การบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัทใหม่ Commercial Japan Partnership Technologies Asia
(CJPT-Asia) ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย เพื่อเร่งขยายความร่วมมือไปยังทุกภาคอุตสาหกรรมก่อนจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ
*1 การแปลงเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ มาจากการลดระยะทางการขับขี่โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพในการบรรทุกและการรับเส้นทางการจัดส่งให้เหมาะสม
*2 การแปลงเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดทั้งปี มาจากลดคาร์บอนไดออกไซด์แบบ “Tank-to-wheel” เมื่อเทียบกับยานพาหนะทั่วไป โดยขึ้นอยู่กับอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทั้งหมดที่ใช้ระหว่างการสาธิต