“วราวุธ” รมว.พม. ชี้กลุ่มเปราะบางกระทบมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการโยกย้ายถิ่นฐาน พร้อมหารือ จุฬาฯ พัฒนานวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิต

วันที่ 15 ธันวาคม 2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ“ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการโยกย้ายถิ่นฐานและกลุ่มเปราะบาง” (Impacts of Climate Change on Migration and Vulnerable People) ในการประชุมประจำปีเพื่อรำลึกถึงวันผู้โยกย้ายถิ่นฐานสากล (International Migrants Day) “การแสวงหาแนวทางสำหรับการมีส่วนร่วมของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน” (Exploring Pathways for Migrant Inclusion) โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. เข้าร่วม ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายวราวุธ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 ประกาศให้ทุกวันที่ 18 ธันวาคมเป็นวันผู้อพยพย้ายถิ่นฐานสากล (International Migrants Day) เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน และได้การปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา สีผิว และเพศสภาพ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้กำหนดจัดการประชุมประจำปีดังกล่าวเป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึงวันผู้โยกย้ายถิ่นฐานสากล

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ในโอกาสนี้ ตนได้กล่าวแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการโยกย้ายถิ่นฐาน พร้อมระบุว่าการโยกย้ายถิ่นฐาน คือปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งสำหรับประเทศต้น ประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทาง แต่ยังมีข้อท้าทายคือ ผู้โยกย้ายถิ่นฐานยังคงต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ การเหยียดเชื้อชาติ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งหมายความว่าจำนวนผู้โยกย้ายถิ่นฐานเนื่องด้วยปัญหาจากสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังส่งผลให้สถานการณ์ของกลุ่มเปราะบางและผู้พลัดถิ่นต้องโชคร้ายมากขึ้นกว่าเดิมด้วย นอกจากนี้ โยกย้ายถิ่นฐานยังมีผลกระทบทางกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมอีกด้วย ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบาย นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการโยกย้ายถิ่นฐาน และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ จะต้องทำงานร่วมกันให้มากถึง รวมถึงต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศที่มากขึ้นและใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อตอบสนองต่อประเด็นดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ และได้เน้นย้ำว่าผู้โยกย้ายถิ่นฐานทุกคนจะต้องได้รับการปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และจะต้องไม่มีใครถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งการโยกย้ายถิ่นฐาน

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ตนพร้อมคณะได้ร่วมการประชุมหารือความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต และความมั่นคงของประชากรและกลุ่มเปราะบางในสังคมไทย ร่วมกับคณาจารย์ นักวิชาการ และนักวิจัย ในประเด็นนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส (sPace) ร่วมกับ ศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และหารือในประเด็นนวัตกรรมโรคซึมเศร้ากับเทคโนโลยี DMIND app, Braindi ร่วมกับ รศ. พญ. โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากนั้น ได้เยี่ยมชม Smart Living Unit “Zen Model” บ้านต้นแบบประหยัดพลังงานและอยู่สบาย งานวิจัยเพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย ผลงานวิจัยของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร่วมกับวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ศรส #โยกย้ายถิ่นฐาน #กลุ่มเปราะบาง #พม #internationalmigrantsday