วันที่ 12 ธันวาคม 2566 เวลา 13.30 น. นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคม 2566 โดยมี นายนรเศรษฐ สองทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 นายพิมล สกุลดิษฐ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานระนอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมพร้อมนำเสนอแผนการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดระนอง ณ โครงการชลประทานระนอง จังหวัดระนอง
อนึ่ง จังหวัดระนองเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและลาดลงสู่ทะเล ก่อให้เกิดแม่น้ำลำคลองสายสั้นๆ และมีความลาดชันสูง ทำให้ช่วงฤดูฝนมวลน้ำไหลออกสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว จึงไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูน้ำหลาก ยังคงมีพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงก่อให้เกิดปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองระนอง อีกทั้งในช่วงฤดูแล้งเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ เกิดปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำลำคลองสายต่างๆ ทำให้ไม่สามารถใช้น้ำทำเกษตร อุปโภค-บริโภคได้ ซึ่งส่งผลกระทบกับพื้นที่เกษตรกรรมและราษฎรเป็นอย่างมาก
กรมชลประทาน จึงชูแผนดำเนินการในปีงบประมาณ 66-67 ซึ่งนำเสนอแนวทางการสำรวจและจัดสร้างแหล่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำเพิ่มเติมในช่วงฤดูฝน และจัดทำระบบส่งน้ำให้กับพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง รวมไปถึงปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดเล็ก ก่อสร้างอาคารป้องกันน้ำเค็ม อาทิ ทางระบายน้ำป้องกันน้ำเค็ม ประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมไม่ให้น้ำเค็มรุกเข้ามาในพื้นที่รวมถึงเป็นการกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้กับชาวระนองอย่างยั่งยืน ตอบสนองความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนภาคการเกษตร รวมถึงพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และผลไม้อื่นๆ สนับสนุนการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจการท่องเที่ยวในเขตเมือง จังหวัดระนองได้อีกด้วย