ปลัดฯ จตุพร ติดตาม 11 มาตรการเร่งด่วนป้องกันฝุ่น PM2.5 ปี 67 กำชับ ทุกหน่วยงานคุมเข้มพื้นที่ป่า – เกษตรกรรม – เมือง พร้อมตั้งศูนย์สื่อสารฯ วิเคราะห์สถานการณ์

วันที่ 8 ธันวาคม 2566 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน แต่งตั้งให้เป็นประธานอนุกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ได้มีการประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานเร่งด่วนตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ปี 2567 ทั้ง 11 มาตรการ ไปเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (6 ธันวาคม 2566) โดยเน้นการเตรียมความพร้อมป้องกันการเกิดฝุ่น PM2.5 และไฟป่า ใน 3 พื้นที่แหล่งกำเนิดหลัก ได้แก่ พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่เมือง รวมถึงหมอกควันข้ามแดน โดยได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดแต่ละแหล่ง เข้มงวดในการดำเนินการตามมาตรการให้มากขึ้น เนื่องจากในปี 2567 ประเทศไทยจะอยู่ในสภาวะของปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะความแห้งแล้งรุนแรง และมีผลต่อสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในช่วงต้นปี 2567 ได้

โดย 11 มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ การเตรียมความพร้อมการควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาใน 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ โดยจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า จัดระเบียบควบคุมผู้เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อลดการเกิดไฟในพื้นที่ป่าให้ได้ 50% จากปี 2566 การเตรียมความพร้อมการกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตการเผาและการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตร โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ การนำระบบการรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM2.5 Free) มาใช้กับการปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การจัดหาและสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่เหมาะสมในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร และมาตรการไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยนำมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ และจัดตั้งศูนย์รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การพิจารณาเพิ่มเงื่อนไขเรื่องการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรในการนำเข้า – ส่งออกสินค้า เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน

การพิจารณาสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจให้ภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 การผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 การลดปริมาณฝุ่นละอองจากรถบรรทุก รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีและการตรวจจับควันดำ การเข้มงวดวินัยจราจร การคืนพื้นผิวจราจรบริเวณการก่อสร้างรถไฟฟ้า การลดจำนวนรถยนต์ในท้องถนนโดยเฉพาะในพื้นที่เมือง สร้างจุดจอดแล้วจร และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนใช้รถยนต์ไฟฟ้า การลดปริมาณฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างและอื่นใด และการกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

“นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับแนวทางการสื่อสารจากระดับนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันมากขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โดยได้จัดตั้งศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ที่จะมีผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร มานั่งวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ประจำวันร่วมกันกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ได้สถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันส่งต่อไปให้ยังผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดโดยตรง ให้สามารถดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาตามมาตรการต่าง ๆ ได้อย่างสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที” นายจตุพร กล่าว