นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ได้รับรายงานความคืบหน้าการช่วยชีวิตวาฬเบลนวิลล์ ประจำวันที่ 5 ธันวาคม 2566 จากเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (ศวทล.) แจ้งว่าวาฬมีอาการชักเมื่อเวลา 07.20 น. จึงได้ทำการกู้ชีพแต่ไม่ประสบความสำเร็จ วาฬตัวดังกล่าวได้ตายเมื่อเวลาประมาณ 08.07 น. จากการชันสูตรพบรอยที่เกิดจากฉลามคุกกี้คัตเตอร์ทั่วลำตัว รอยแผลคล้ายรอยอวนรัดที่บริเวณปากล่างและครีบหลัง กล้ามเนื้อบริเวณหลังฝ่อลีบ เนื่องจากวาฬขาดอาหาร พบเลือดออกที่บริเวณโหนกหัว ปอดพบก้อนหนองขนาดเล็กกระจายอยู่ พบฟองอากาศขนาดเล็กอยู่ที่บริเวณหลอดลมฝอยในปอดทั้งสองข้าง ต่อมน้ำเหลืองขยายขนาดทั่วร่างกาย ไม่พบอาหารตลอดความยาวของทางเดินอาหาร พบขยะที่บริเวณหลอดอาหารและกระเพาะอาหารส่วนไพโลริก พบแผลที่เกิดจากกรดไหลย้อนบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหาร พบกระเพาะอาหารอักเสบและมีแผลหลุมที่บริเวณกระเพาะอาหารหลัก ตับมีขนาดเล็กกว่าปกติ ไตซ้ายมีขนาดเล็กกว่าไตขวาอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุการตายเบื้องต้นเกิดจากการป่วยเป็นระยะเวลานานทำให้วาฬมีภาวะขาดอาหารและน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดอย่างรุนแรง นอกจากนี้ได้มีการส่งตัวอย่างชิ้นเนื้อและตัวอย่างเพาะเชื้ออื่นๆ เพื่อยืนยันสาเหตุการตายที่แน่ชัดต่อไป