กรมส่งเสริมการเกษตรพัฒนาเจ้าหน้าที่ มุ่งสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างยั่งยืนตามหลัก BCG Model  

นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปัจจุบัน การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการท่องเที่ยวชุมชนถือเป็นการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ  ด้วยรูปแบบการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นประสบการณ์ การสัมผัสวิถีชีวิตเกษตรที่เป็นรากฐานอาชีพหลักของคนไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชน โดยการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นการท่องเที่ยวที่นำทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นกุญแจดอกแรกที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก ในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดนโยบายและแผนการขับเคลื่อนงานเพื่อให้การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเกิดประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและยั่งยืนตามหลัก BCG Model โดยผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว 5 ประการ ดังนี้

1. การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทั้งเจ้าหน้าที่และวิสาหกิจชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้มีมาตรฐาน ความปลอดภัย มีความสะอาด ถูกสุขอนามัย มีการให้บริการที่ดี และสมาชิกวิสาหกิจชุมชน มีส่วนร่วมในการดำเนินงานสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและชุมชน เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยว เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำหน่ายสินค้าแก่นักท่องเที่ยวและเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน

2. การจัดเก็บข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านการท่องเที่ยว โดยส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนจัดเก็บข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูล ได้แก่ สถิตินักท่องเที่ยว รายได้ ข้อเสนอแนะของนักท่องเที่ยว เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เชิงเกษตร

3. การยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ได้มาตรฐาน โดยส่งเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเข้าสู่กระบวนการประเมินมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของกรมการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว ส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยว

4. การส่งเสริมการตลาดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ได้แก่ การใช้ตราสัญลักษณ์ A (Agrotourism) การประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลและเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในแหล่งผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ

5. การส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรใหม่ โดยยึดหลักการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้มีความพร้อมในการให้บริการที่ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง BCG Model เพื่อต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า  เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความพร้อมในการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว สามารถพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและที่พักให้ได้มาตรฐาน และสร้างจุดแข็งของแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรจากอาหารที่มีความหลากหลายในแต่ท้องถิ่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตรจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคงจากการขาย และเกิดส่วนแบ่งทางการตลาด กรมส่งเสริมการเกษตรจึงกำหนดจัดสัมมนาการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการท่องเที่ยวชุมชนให้สอดคล้องกับหลัก BCG Model ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานท่องเที่ยวเชิงเกษตรระดับเขต ระดับจังหวัด และเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง รวมจำนวน 60 คน ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุม 4/2 ชั้น 4 อาคาร 1 กรมส่งเสริมการเกษตร และรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting เพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความเข้าใจการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สามารถเป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำแก่วิสาหกิจชุมชนผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ รวมถึงเกิดแนวทาง การส่งเสริมการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เหมาะสมในระดับพื้นที่ และสอดคล้องตามแนวทาง BCG Model ต่อไป