กรมพัฒนาที่ดิน กำหนดให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นสถานที่จัดงานวันดินโลกปี 2566 (World Soil Day 2023) ภายใต้หัวข้อ “Soil and Water : a source of life, ดินดี น้ำสมบูรณ์ เกื้อกูลชีวิต” ยกทัพความรู้แก้ปัญหาดินและน้ำตามพระราชดำริให้เรียนรู้อย่างยิ่งใหญ่
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีทรงพระมาหกรุณาธิคุณในการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรดิน ช่วยให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี จนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตานานาประเทศ สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้ถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” เป็นพระองค์แรกของโลก และองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้ วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันดินโลก” การจัดงานวันดินโลกปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้กำหนดจัดงานภายใต้หัวข้อ “Soil and Water : a source of life , ดินดี น้ำสมบูรณ์ เกื้อกูลชีวิต” ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 5-10 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
นางสาวเกษร จำปา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2522 โดย กรมพัฒนาที่ดิน ได้สนองแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 พัฒนาให้ศูนย์แห่งนี้ เป็นแหล่งรวบรวมการศึกษา ทดลอง วิจัย และการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ดินทรายจัดเพื่อเกษตรกรรมด้วย แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้มีสภาพเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื้อดินเป็นทราย ไม่อุ้มน้ำ มีการชะล้างการพังทลายของดินสูง ดินรองรับน้ำได้เพียง 30 มิลลิเมตร สามารถปลูกพืชไร่อย่างข้าวโพดและมันสำปะหลัง ซึ่งจากการปลูกติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ดินจืดและกลายเป็นดินทราย มีแร่ธาตุน้อย
“การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้เน้นบริหารจัดการแบบบูรณาการระหว่างส่วนราชการ โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินงาน มีการศึกษาหาเทคโนโลยีพัฒนาการทำอาชีพเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาดินทรายให้เป็นดินดี ด้วยการฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดิน สร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ มีการปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและปรับปรุงบำรุงดินให้ อุดมสมบูรณ์ขึ้น รวมถึงจัดสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง จนเป็นต้นแบบความสำเร็จให้เกษตรกรได้นำความรู้ ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเองได้” นางสาวเกษร กล่าว
“สำหรับงานวันดินโลกปี 2566 นี้ มีกิจกรรมประกอบด้วย นิทรรศการต่างๆ อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระราชกรณียกิจและแนวพระราชดำริด้านดินและน้ำ นิทรรศการกลางแจ้งในรูปแบบนิทรรศการมีชีวิต การเสวนาระดับนานาชาติ เสวนาหมอดินอาสา กิจกรรมประกวดแข่งขันมากมาย อาทิ ประกวดวาดภาพจากดิน แข่งขันส้มตำลีลา กิจกรรม DIY งานศิลป์จากดิน จัดแสดงว่าวไทย เดินเทรลเพื่อสุขภาพท่ามกลางธรรมชาติแสนสบาย และเชิญเลือก ซื้ออาหารที่ผลิตจากดินดีร้อยร้านค้า และ มีวิวถ่ายรูปสวยๆ อาทิ ทุ่งปอเทือง ทุ่งคอสมอส เป็นต้น” นายปราโมทย์ กล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลจาก : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ