กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จัดกิจกรรมคุ้มวัฒนธรรม เนื่องในงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่นและงานขอนแก่น ซอฟต์พาวเวอร์ ประจำปี พ.ศ. 2566 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ประเพณี ศิลปะและวัฒนะรรมของชาวอีสานให้คงอยู่สืบไป โดยมีนายโกวิท ผากมาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเป็นประธานประเพณีผูกเสี่ยว นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น กล่าวรายงาน โอกาสนี้ กงสุลใหญ่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน กงสุลกิตติมศักกดิ์ สาธารณรัฐเปรู ประจำประเทศไทย ผู้บริหาร สวธ. รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 23 รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ให้เกียรติร่วมงาน ณ คุ้มวัฒนธรรม บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 เวลา 18.00 น. นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประธานเปิดงานคุ้มวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมคุ้มวัฒนธรรม แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนอีสานที่มีประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามเป็นของตนเอง สำหรับกิจกรรมการผูกเสี่ยวถือเป็นแบบอย่างและสัญลักษณ์ของการแสดงออกซึ่งความรัก ความสามัคคี ความเอื้ออาทรให้แก่กันและกัน ก่อให้เกิดความสงบในชุมชนและประเทศชาติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายในการส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมอีสาน ที่ได้ชื่อว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์และเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่มีเอกลักษณ์ของคนอีสาน โอกาสนี้ท่านอธิบดี สวธ. ได้ร่วมพิธีผูกเสี่ยวร่วมกับกงสุลใหญ่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ด้วย
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ได้รับมอบหมายจากจังหวัดขอนแก่น ให้ดำเนินการจัดกิจกรรมคุ้มวัฒนธรรม ในงานเทศกาลไหมฯ มาตั้งแต่ ปี 2547 โดยในปี 2566 นี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 18 เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวอีสาน ให้เป็น “มรดกทางวัฒนธรรม” คงอยู่สืบไป ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น,มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน,มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น,สมาคมหมอลำจังหวัดขอนแก่น และสภาวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น มีกิจกรรมสำคัญได้แก่ การผูกเสี่ยว,การประกวดดนตรีพื้นบ้านอีสานโปงลาง,การประกวดกลองยาว,การประกวดพานบายศรี,การสาธิตการแสดงหมอลำกลอนประยุกต์,ลงข่วง เข็ญฝ้าย จ่ายผญา,การจัดนิทรรศการอุทยานธรณีขอนแก่น Khonkaen Geopark และการแสดงของหมู่บ้านงูจงอาง
ประเพณีผูกเสี่ยว หรือพิธีผูกเสี่ยว จัดเป็นประเพณีเก่าแก่และดีงามพิธีหนึ่งของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้ประพฤติปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานานนับศตวรรษ โดยจังหวัดขอนแก่นได้เล็งเห็นความสำคัญของพิธีผูกเสี่ยวนี้ จึงได้นำพิธีผูกเสี่ยวผนวกเข้ากับงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาด ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายนถึง 10 ธันวาคม เป็นประจำทุกปี การผูกเสี่ยวนั้น นับว่ามีประโยชน์มากมาย ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครองฯ ทั้งนี้ เพราะการมีเสี่ยว หมายถึง การมีเพื่อนตายที่มีความรัก ความจริงใจ ความเข้าใจต่อกันเป็นอย่างดี นับตั้งแต่ตัวของเสี่ยวเอง ครอบครัวต่อครอบครัว หมู่บ้านต่อหมู่บ้าน หรือ อำเภอต่ออำเภอ เป็นต้น ซึ่งความรักความเข้าใจนี้จะช่วยให้บุคคลในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขฉันท์พี่น้อง มีอะไรก็สงเคราะห์เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เช่น ถ้าใครมีผักก็นำไปแลกเปลี่ยนกับคู่เสี่ยวที่มีสินค้าอย่างอื่น เช่นปลา ข้าว เป็นต้น การผูกเสี่ยวจึงเท่ากับเป็นการสร้างสรรค์ ความรัก ความเข้าใจ ความสามัคคีระหว่างชนในหมู่บ้าน และในชาติได้เป็นอย่างดี การผูกเสี่ยว จึงเป็นประเพณีอันดีงามของอีสานเรา ที่บรรพบุรุษของเราได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน สมควรอย่างยิ่งที่พวกเราชาวไทยทุกคน โดยเฉพาะชาวภาคอีสานจะได้ช่วยกันพิทักษ์รักษาไว้ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น เพื่อเป็นมรดกตกทอดไปยังอนุชนรุ่นหลังสืบไป