วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ที่เขื่อนทดน้ำผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ พร้อมรับฟังปัญหาและมอบนโยบายแนวทางการแก้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทานรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน นายอภิชาต ชุมนุมมณี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายวรพจน์ เพชรนรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และสรุปผลการดำเนินงาน
จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็น 1 ในจังหวัด ที่มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 450,000 ไร่ มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ คือ เขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนการใช้น้ำให้กับจังหวัดต่างๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวม 22 จังหวัด ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯประมาณ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก ตั้งอยู่ในแม่น้ำน่าน บริเวณบ้านคลองนาพง หมู่ 7 ตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำน่านตอนล่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจุบันได้สร้างเขื่อนทดน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบส่งน้ำ พร้อมอาคารประกอบ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถส่งน้ำได้ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอลับแล อำเภอตรอน และอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอพรหมพิราม และอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก รวมพื้นที่กว่า 481,400 ไร่
นอกจากนี้ กรมชลประทานได้มีการดำเนินการจัดทำแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัยในพื้นที่ทั้งภัยจากน้ำป่าไหลหลาก และภัยจากน้ำท่วมขัง อาทิ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำปาดและระบบส่งน้ำ และโครงการเพิ่มศักยภาพแก้มลิงบึงธรรมชาติ (บึงหล่ม บึงกะโล่ บึงมาย และบึงช่อ) ทั้งนี้ กรมชลประทานจะเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำ และระบบระบายน้ำพร้อมอาคารประกอบในส่วนของโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุกให้แล้วเสร็จ และดำเนินการโครงการอื่นๆตามแผนที่วางไว้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับลุ่มน้ำน่าน เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนให้กับพี่น้องชาวอุตรดิตถ์ ได้มีน้ำไว้ใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี