วธ.-ศศินทร์ เผย “ศิลปะการแสดง-ความเชื่อและศรัทธา” ทุนวัฒนธรรมโดดเด่นขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย พร้อมเสนอแนะแนวทางเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้สู่ชุมชน-ประเทศ

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้รับรายงานว่า สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการศึกษาทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นในแต่ละภูมิภาคของไทยเป็นครั้งแรก ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งวิเคราะห์แนวทางต่อยอดสู่สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพระดับโลก เพื่อนำข้อมูลจัดทำแผนการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้วยมิติทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยได้จัดกิจกรรม Workshop จำนวน 7 ครั้งในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมประชุมประกอบด้วยศิลปิน ผู้ประกอบการวัฒนธรรม นักนโยบายภาครัฐและเอกชน และนักวิชาการ กว่า 600 คน ผลการศึกษาทุนวัฒนธรรมที่โดดเด่นที่สุด 3 อันดับแรกในแต่ละภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือ ได้แก่ เทศกาลโคมล้านนา เทียนปูชาและขันโตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ หมอลำ เทศกาลสงกรานต์และส้มตำ ภาคตะวันตก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่ การล่องแพและการท่องเที่ยววิถีชุมชน ภาคกลาง ได้แก่ โบราณสถาน กุ้งและปลาแม่น้ำ และการท่องเที่ยวสายมู ภาคตะวันออก ได้แก่ อาหารทะเล ขนมจีน และหนังใหญ่ และภาคใต้ ได้แก่ สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ หนังตะลุงและโนรา โดยได้รวบรวมทุนวัฒนธรรมทั่วประเทศที่มีศักยภาพในการต่อยอดกว่า 50 รายการ

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ผลการศึกษาพบว่า ทุนวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 7 ด้าน ประกอบด้วย ทุนวัฒนธรรม 5F และทุนวัฒนธรรมที่ต้องผลักดันเพิ่มเติม 2 ด้าน หรือ 5F+2 ได้แก่ 1.อาหาร (Food) 2.แฟชั่น งานฝีมือและศิลปหัตถกรรม (Fashion) 3.ภาพยนตร์ (Film) 4.เทศกาลและการท่องเที่ยว (Festival) 5.ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทยและกีฬา (Fighting) 6.ศิลปะการแสดง และ 7.ความเชื่อ ตำนานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมเสนอแนวทางเพิ่มมูลค่าทุนวัฒนธรรม ได้แก่ 1.อาหาร โดยขายประสบการณ์เพิ่มเติมจากอาหาร และสอดแทรกเรื่องราวและที่มา จัดกิจกรรมเช่น Workshop ทำอาหารหรือเทศกาลอาหาร แปรรูปและเพิ่มตลาดส่งออก 2.แฟชั่น/หัตถกรรม สอดแทรกเรื่องราว ที่มาและเบื้องหลังของผลงาน ดัดแปลงศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมให้กลายเป็นของที่ระลึกที่เหมาะกับทุกคนและซื้อง่าย เช่น ไปรษณียบัตร พวงกุญแจ ของตกแต่งบ้านขนาดเล็ก ผสานเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทยในสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งใช้นวัตกรรมช่วยลดเวลาในการผลิต 3. ภาพยนตร์ โดยสนับสนุนผู้ผลิตเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์และการจับคู่ธุรกิจ สร้างเนื้อหาที่มีคุณค่าสากล และจัดกิจกรรมกับแฟนคลับต่างประเทศ ให้ทุนการศึกษาบุคลากรอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 4. ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จัดทำแผนที่เส้นทางประเพณี พัฒนาสถานที่ที่สะท้อนลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค และสอดแทรกสถานที่ท่องเที่ยวและเทศกาลผ่านสื่อต่างๆ และอินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 5. มวยไทยและกีฬาพื้นบ้าน นำเทคโนโลยีมาช่วยฝึกมวยไทย ประยุกต์การรำมวยไทยมาใช้ออกกำลังกาย และเพิ่มจำนวนการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน 6. ศิลปะการแสดง จัดแสดงในงานสำคัญของจังหวัดและจัดแข่งขันระดับจังหวัดและระดับประเทศ และผลิตของที่ระลึกจากเอกลักษณ์ของศิลปะการแสดง และ 7. ความเชื่อ สอดแทรกเรื่องราวและที่มา เชื่อมโยงเรื่องราวในพื้นที่ และออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยตำนานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นำเสนอร่วมกับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเผยแพร่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า วธ.จะนำผลการศึกษาดังกล่าว มาจัดทำแผนการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้วยมิติทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาล Thailand Creative Content Agency (THACCA) ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 11 สาขา และนโยบาย Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก สร้างรายได้แก่ประชาชน-ชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ