ชป.เดินหน้าสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำน้อย

จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงนี้ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น ส่วนบริเวณภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ จะมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้กรมชลประทานมีความเป็นห่วงราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในหลายพื้นที่ ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำน้อยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลายพื้นที่ของประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ น้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ มีระดับต่ำลง เกษตรกรก็ได้รับความเดือดร้อนจากปริมาณน้ำที่น้อยลง แม้ในช่วงนี้จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือราษฎร พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้แก่เกษตรกร อย่างต่อเนื่อง อาทิ จังหวัดชัยนาท โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร ดำเนินการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในปัจจุบันให้ราษฎรในพื้นที่ได้รับทราบ พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้เกษตรกรใช้น้ำตามรอบเวรที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต

ด้านจังหวัดสุรินทร์ทโครงการชลประทานสุรินทร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ลงพื้นที่เหมืองหิน ตำบลนาบัว ติดตามความก้าวหน้าการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและการวางระบบท่อ เพื่อสูบน้ำไปสำรองในอ่างเก็บน้ำ-ห้วยเสนง สำหรับผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุรินทร์ ทั้งนี้ ปริมาณน้ำดิบในเหมืองหินของเอกชนทั้ง 2 บ่อ ได้รับความอนุเคนาะห์จากภาคเอกชนให้ทำการสูบน้ำไปใช้ได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  ซึ่งมีปริมาณน้ำรวมประมาณ 3.2 ล้าน ลบ.ม.  นอกจากนี้ ในส่วนการประปาได้ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเพิ่มอีกจำนวน 3 บ่อ เพื่อเป็นน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา ปัจจุบันได้ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลไปแล้วจำนวน 1 บ่อ และจะเร่งดำเนินการเจาะเพิ่มอีก 2 บ่อ คาดว่าถ้าเจาะครบทั้ง 3 บ่อ จะมีปริมาณน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาวันละประมาณ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ส่วนอ่างเก็บน้ำน้ำตา ที่อยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ทางโครงการชลประทานสุรินทร์ได้ใช้เครื่องสูบน้ำ สูบน้ำส่งให้การประปาส่วนภูมิภาค โดยสามารถสูบน้ำได้วันละประมาณ 9,000 ลบ.ม/วินาที เพื่อใช้สำหรับผลิตน้ำประปาอีกทางหนึ่งด้วย จึงขอให้ทุกภาคส่วนมั่นใจว่าในช่วงวิกฤตนี้ จะมีน้ำประปาใช้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ หากมีปริมาณฝนตกชุกลงมาอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนและเกษตรกรร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด และใช้น้ำตามรอบเวรตนเองอย่างเคร่งครัด และหากพบว่าพื้นที่ใดประสบกับปัญหาเรื่องน้ำในการอุปโภคบริโภค และการเกษตร สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านได้ตลอดเวลา หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
30 กรกฎาคม 2562