สารคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เนื่องใน “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” ประจำปี 2566

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” (International Day for the Elimination of Violence against Women) เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและร่วมกันขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั่วโลก และคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” มาตั้งแต่ปี 2542

สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในประเทศไทย ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง มีผู้หญิงและเด็กหญิงถูกล่วงละเมิดด้วยการทำร้ายร่างกายและจิตใจในทุก ๆ วัน และเป็นที่น่าตกใจว่าประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของโลกที่มีสถิติผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงทั้งด้านจิตใจ ทางร่างกาย และทางเพศมากที่สุด นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีความรุนแรงในครอบครัวอีกหลายกรณีที่ไม่ได้รับการแจ้งความร้องทุกข์ ด้วยสาเหตุความหวาดกลัวต่อการถูกข่มขู่ คุกคาม หรือความอับอายไม่อยากเปิดเผยเรื่องราวให้ผู้อื่นรับรู้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงและเด็กหญิงที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อน (Intersectionality) ยังมีความเปราะบางต่อการถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้น เช่น เป็นเด็กหญิงกลุ่มชาติพันธุ์ที่พิการ ประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริการทางเพศ (sex worker) และติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น นอกจากนี้ การแสวงหาประโยชน์และกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทางออนไลน์ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น

กสม. ขอเน้นย้ำว่า การกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาการของเด็ก การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง แจ้งเหตุ ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กหญิงในระดับชุมชน การสนับสนุนการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคม การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งเสริมและคุ้มครองผู้หญิงและเด็กหญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง การพัฒนาและบูรณาการระบบข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในออกแบบมาตรการในการส่งเสริม คุ้มครอง ช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ถูกกระทำความรุนแรง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ

กสม. ให้ความสำคัญกับการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกรูปแบบ และขอให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมมือกัน ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อร่วมกันให้ความคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยของผู้หญิงและเด็กทุกคน จากความรุนแรงทั้งทางกาย ทางจิตใจ และทางเพศ

ท้ายนี้ กสม. ขอสนับสนุนให้ทุกคนลุกขึ้นยืนหยัดพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงและเด็กหญิง และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมที่ไม่มีใครสมควรต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอีกต่อไป