นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชน ที่มีต่อ “วันลอยกระทง” ประจำปี พ.ศ. 2566 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 17,428 คน ครอบคลุมทุกอาชีพและทุกภูมิภาค โดยผลสรุปพบว่า เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.38 ทราบว่าวันลอยกระทงปีนี้ตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายน เมื่อสอบถามความเห็นการลอยกระทง เป็นการร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่สังคมไทยหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 92.33 เห็นด้วย และเห็นว่าประเพณีลอยกระทงมีความสำคัญอย่างไร 3 อันดับแรก คือ ร้อยละ 69.33 เพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ร้อยละ 50.98 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และร้อยละ 46.49 เพื่อรู้คุณค่าของน้ำ และการปฏิบัติต่อการใช้น้ำ เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า เมื่อสอบถามเด็ก เยาวชน และประชาชนคิดว่าสถานที่ที่จะไปลอยกระทงในปีนี้ 3 อันดับแรก พบว่า ร้อยละ 49.33 ตามงานวัด ชุมชน สวนสาธารณะ ที่จัดงานลอยกระทง ร้อยละ 23.56 สระน้ำ บึง แม่น้ำ ลำคลอง และร้อยละ 10.46 ยังไม่แน่ใจ ส่วนสถานที่ที่มีความน่าสนใจในการลอยกระทง 3 อันดับแรก คือ ร้อยละ 28.90 จังหวัดสุโขทัย งานการแสดงแสงเสียง งานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ร้อยละ 19.64 จังหวัดเชียงใหม่ งานประเพณียี่เป็งล้านนา/ประเพณีเดือนยี่เป็ง และร้อยละ 17.16 ไอคอนสยาม นอกจากนี้ ผลสำรวจได้สอบถามควรจัดกิจกรรมใดในงานประเพณีลอยกระทง ร้อยละ 58.76 การประกวดกระทงสวยงาม ร้อยละ 53.60 เห็นว่า ควรจัดกิจกรรมการประกวดนางนพมาศ ร้อยละ 48.85 กิจกรรมการแต่งกายชุดไทยเข้าร่วมประเพณีลอยกระทง ร้อยละ 43.33 กิจกรรมการทำบุญ ไหว้พระ และร้อยละ 41.73 กิจกรรมการแสดงดนตรีไทย และศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ส่วนการลอยกระทงอย่างไรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 71.09 เห็นว่า ลอยกระทงโดยใช้วัสดุธรรมชาติ ร้อยละ 51.50 1 ครอบครัว 1 กระทง และร้อยละ 45.02 ลอยกระทงออนไลน์ และเมื่อสอบถามถึงวิธีการที่จะจูงใจหรือเชิญชวนเข้าร่วมประเพณีลอยกระทง ร้อยละ 63.69 เห็นว่า ครอบครัวพาลูกหลานไปร่วมงานลอยกระทง ร้อยละ 48.78 หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ ส่งเสริม อนุรักษ์และสืบสานประเพณีลอยกระทง และร้อยละ 42.66 เข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อสอบถามถึงเด็ก เยาวชน และประชาชนห่วงและกังวลมากที่สุดจากการจัดงานประเพณีลอยกระทงในปีนี้พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 31.50 เกิดอุบัติเหตุ เช่น พลัดตกน้ำ จมน้ำ อุบัติเหตุทางการจราจร ร้อยละ 25.78 เกิดขยะในแม่น้ำ และร้อยละ 20.68 การทะเลาะวิวาท การทำอนาจาร ขณะเดียวกันเมื่อสอบถามเกี่ยวกับ เด็ก เยาวชน และประชาชนเกี่ยวกับการส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนแต่งกายชุดไทยไปลอยกระทง ส่วนใหญ่เห็นด้วยเพราะเป็นการอนุรักษ์ความเป็นไทย ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ แสดงถึงความเป็นไทย ร่วมสืบสานประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชาติ เป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลัง เป็นโอกาสที่ดีที่ทุกคนจะได้ร่วมกันสวมใส่ชุดไทยในงานเทศกาลประเพณีและยังทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยอย่างแท้จริง รวมทั้งยังได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ที่บริการให้เช่าและจำหน่ายชุดไทยด้วย
นอกจากนี้ เมื่อสอบถามเกี่ยวกับแนวทางที่ให้กระทรวงวัฒนธรรมได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสาน และส่งเสริมประเพณีลอยกระทง ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า ควรจัดกิจกรรมประเพณีลอยกระทงทุกปี เพื่ออนุรักษ์ สืบสานและส่งเสริมประเพณีลอยกระทงที่ทรงคุณค่าไม่ให้สูญหาย การปฏิบัติตามแบบประเพณีวัฒนธรรมที่เหมาะสม ซึ่งสะท้อนถึงการแสดงออกที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร มีน้ำใจไมตรีให้แก่กันและการแสดงความกตัญญูต่อ “น้ำ” และสนับสนุนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมประเพณีลอยกระทงทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด การส่งเสริมและรณรงค์ให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติในการทำกระทง ร่วมใส่ใจสายน้ำและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้กระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า วธ.พร้อมรับความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับวันลอยกระทงมาดำเนินการทั้งการส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนแต่งกายชุดไทยไปลอยกระทงเพื่ออนุรักษ์ความเป็นไทยและส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สนับสนุนการจัดกิจกรรมประเพณีลอยกระทง เช่น การประกวดกระทง การประกวดนางนพมาศ การแสดงพื้นบ้าน การจำหน่าย และจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้าน เป็นต้น รวมทั้งมุ่งยกระดับงานประเพณีลอยกระทงให้เป็นงานระดับนานาชาติ