รั้วไผ่หนาม หนึ่งวิธีการทางธรรมชาติป้องกันสัตว์ป่าขนาดใหญ่ออกนอกพื้นที่อนุรักษ์

วันที่ 30 กรกฎาคม 2562 เวลา 10.00 – 12.00 น. นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พาสื่อมวลชนหลายแขนง อาทิ วิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ จำนวนกว่า 30 คน ลงพื้นที่ดูงานโครงการปลูกสร้างรั้วไผ่หนามป้องกันสัตว์ขนาดใหญ่ออกหากินนอกเขตป่า บริเวณแนวเขตรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ณ บ้านคลองเพล ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พบกับแกนนำกลุ่มรั้วไผ่หนาม และกลุ่มจิตอาสาที่ร่วมกันปลูกสร้างรั้วไผ่หนามรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาสัตว์ป่าออกนอกเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะช้างป่า เข้าไปในพื้นที่ทำการเกษตรและพื้นที่อยู่อาศัยชุมชน เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายจังหวัด ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สร้างความเดือดร้อนกับประชาชนที่อยู่อาศัยติดกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่อื่น ๆ  ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของประชาชน เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างคนกับช้างป่าทวีความรุนแรงมากขึ้นสร้างความสูญเสียทรัพย์สิน บาดเจ็บและเสียชีวิต จากสภาพปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ จึงมีความจำเป็น
ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า ซึ่งหลายหน่วยงาน องค์กร ภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ติดกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ได้เข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการ และหาวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น สร้างแหล่งน้ำ อาหารในพื้นที่ รวมทั้งก่อสร้างรั้วแนวกั้น อาทิ รั้วไฟฟ้า รั้วเสาไฟการไฟฟ้า และด้วยวิธีทางธรรมชาติ เช่น ขุดคูกั้นช้าง รั้วรังผึ้ง รวมทั้งรั้วไผ่หนามนี้ด้วย

โครงการปลูกสร้างรั้วไผ่หนามป้องกันสัตว์ขนาดใหญ่ออกหากินนอกเขตป่า บริเวณแนวเขตรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นี้ เป็นหนึ่งในวิธีการทางธรรมชาติที่หลายประเทศได้นำไปใช้ในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ เช่น ช้างป่า ใช้งบประมาณค่อนข้างต่ำ เพราะเป็นการใช้วัสดุธรรมชาติ เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่จะนำมาดำเนินการตามแนวเขตของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้มีการสำรวจพื้นที่ ศึกษาสภาพปัญหา และวางแผนดำเนินการโดยรอบแนวเขตรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ท้องที่จังหวัดนครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี และจังหวัดสระบุรี เน้นแนวเขตที่มีสัตว์ป่าขนาดใหญ่ออกนอกเขตอยู่เป็นประจำ เป็นเป้าหมายอันดับแรก โดยประชาสัมพันธ์ให้ชุมชน องค์กรเอกชนต่างๆ ที่อยู่ตามแนวเขตได้รับทราบและเข้าใจโดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายอนุรักษ์หรือสมาชิกอาสาสมัครพิทักษ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.อส.) และอาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ (อส.อช.) ในแต่ละจังหวัด ใช้กล้าไผ่หนามที่มีขนาดความสูงมากกว่า 50 เซนติเมตร ที่เพาะโดยชุมชน เมื่อปลูกแล้วจะมีการดูแลกำจัดวัชพืชรอบโคน ใส่ปุ๋ย และรดน้ำหากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง จนกว่ามั่นใจว่ามีอัตราการรอด 100 เปอร์เซ็นต์ โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 และจะสิ้นสุดโครงการในเดือนกันยายน 2564 หากประสบผลสำเร็จ จะสามารถป้องกันสัตว์ป่าขนาดใหญ่ออกนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้ และจะขยายผลเพื่อก่อสร้างในพื้นที่อื่นๆ ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อไป รองฯ จงคล้ายกล่าวในที่สุด

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม /กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช