ก.แรงงาน ฝึกผู้มีรายได้ทั่วประเทศ หวังสร้างงาน สร้างรายได้ ยกคุณภาพชีวิต เมืองย่าโม จัดเต็มกว่า 18, 000 คน
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าจากการที่กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต 625,120 คน นั้น พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.)ใช้แนวทางประชารัฐประสานจังหวัด และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องจัดฝึกอบรมอย่างเร่งด่วน โดยต้องยึดหลัก 3 ประการ คือ ต้องไม่มีการทุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องประชาสัมพันธ์ไปถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง และต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้กลุ่มที่ผ่านการฝึกอบรมได้ต่อยอดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ หรือมีงานทำอย่างน้อย 65 เปอร์เซ็นต์
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่าเบื้องต้นมีผู้รายงานตัวฝึกอาชีพช่างอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) เช่น ช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า ช่างประปาและสุขภัณฑ์ ช่างปูผนังและกระเบื้อง 22,004 คน ฝึกอาชีพเสริมเพื่อการมีงานทำหรือประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 58 หลักสูตร ระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชม. 30 ชม. และ 60 ชม. จำนวน 365,306 คน รวม 387,310 คน กลุ่มอายุที่สนใจจะอยู่ระหว่าง 35-50 ปี และ 51-60 ปี ซึ่ง 5 จังหวัดแรกที่มีผู้สนใจฝึกอาชีพ ได้แก่ นครราชสีมา 18,774 คน สุรินทร์ 13,827 คน เชียงราย 12,852 คน อุบลราชธานี 12,510 คน และกรุงเทพมหานคร 11,562 คน ส่วนจังหวัดที่มีผู้แจ้งความจำนงน้อยที่สุด คือ ระนอง 568 คน ได้เริ่มดำเนินตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงกันยายนนี้ ตั้งเป้าในแต่ละเดือนจะฝึกอบรมให้ได้อย่างน้อย 100,000 คน คาดว่าเมื่อสิ้นสุดเดือนกันยายนจะฝึกได้ตามเป้าที่วางไว้ โดยสาขาที่ได้รับความนิยม ได้แก่ สาขาการประกอบอาหารไทย การทำขนมเบเกอร์รี่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การตัดเย็บเสื้อผ้า และการจักสาน เป็นต้น
นายสุเมธ โศจิพลกุล ผุ้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 5 นครราชสีมา กล่าวว่าจากการที่จังหวัดนครราสีมามียอดผู้มีรายได้ลงชื่อฝึกอาชีพมากที่สุด จึงได้เร่งดำเนินการประสานความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดฝึกอาชีพช่างอเนกประสงค์และอาชีพเสริมอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ได้จัดฝึกอบรมอาชีพเสริม 4 สาขา ได้แก่ การทำศิลปะประดิษฐ์(การทำของที่ระลึก) การทำขนมไทย การประกอบอาหารไทย การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรโดยใช้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 5 นครราชสีมา (สพร. 5 นครราสีมา) เป็นสถานที่ในการฝึกอบรมเนื่องจากมีความพร้อมทั้งในด้านสถานที่ วิทยากร ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้ารับฝึกจำนวน 88 คน โดยย้ำว่าตลอดระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง ทุกคนจะต้องได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ต่อยอดทักษะการทำงาน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารและสิ่งของ ซึ่งสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว มีผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพเสริม จำนวน 17,206 คน และฝึกอาชีพช่างอเนกประสงค์ 5 รุ่น จำนวน 1,538 คน รวมทั้งสิ้น 18,774 คน