17 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ดร.ชนินทร วรรณวิจิตร รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ร่วมพิธีเปิด “เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 19” หัวข้อ “ทศวรรษแห่งสหประชาชาติ (United Nations Decade) ว่าด้วยการฟื้นฟูระบบนิเวศ” โดยมี นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดฯ พร้อมด้วย นางสาวลิกกี้ ลี พิทเซ่น เลขานุการเอก ฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย, รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อํานวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), นายโยฮันเนส โฮสส์เฟลด ผู้อํานวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย, นายโยฑิน สมโนนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และ ดร.บิคกี้ บันกุ ประธาน โรลส์-รอยซ์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Rolls-Royce Southeast Asia) ร่วมพิธีเปิดฯ ดังกล่าว ณ หอประชุมสถาบันเกอเธ่ ซอยสาทร 1 เขตสาทร กรุงเทพฯ
ดร.ชนินทร วรรณวิจิตร รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวว่า “งานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้” หรือ Science Film Festival นี้จัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 19 ด้วยความมุ่งหวังเดียวกันกับผู้ร่วมโครงการฯ ที่จะนำภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่มีความหลากหลายทั้งด้านแนวคิดและการนำเสนอที่เต็มไปด้วยคุณภาพ มาเผยแพร่สู่สาธารณะ อีกทั้งยังสะท้อนแนวคิดของประเทศต่าง ๆ ต่อประเด็นที่จัดขึ้น ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นภายใต้ประเด็นหัวข้อ “ทศวรรษแห่งสหประชาชาติ (United Nations Decade) ว่าด้วยการฟื้นฟูระบบนิเวศ” โดยมีผู้ผลิตภาพยนตร์มากมายร่วมร้อยเรียงและถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของการบริหารจัดการระบบนิเวศเพื่อจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และสิ่งมีชีวิตอย่างบูรณาการ รวมถึงความจำเป็นในการยกระดับความพยายามในการจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อให้โลกของเราน่าอยู่ รวมถึงการที่ภาพยนตร์เหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดคำถามในใจแก่คนในสังคมอีกด้วย
สำหรับโรงเรียนและผู้สนใจ สามารถชมภาพยนตร์ได้ฟรีตั้งแต่วันนี้ ถึง 20 ธันวาคม 2566 โดยมีภาพยนตร์จากนานาชาติที่ได้รับการคัดเลือกมาฉาย จำนวน 150 เรื่อง และเลือกชมได้ในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (สวทช.), หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช, ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาในภูมิภาคอีกจำนวน 18 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ อุบลราชธานี ลำปาง ร้อยเอ็ด กาญจนบุรี ยะลา สระแก้ว ตรัง นครสวรรค์ ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ ปทุมธานี นครพนม พิษณุโลก นราธิวาส ปัตตานี นครศรีธรรมราช และนครราชสีมา ทั้งนี้ ทางโรงเรียนและคุณครูสามารถบันทึกเก็บโดยนำไปใช้ประโยชน์ในการเป็นสื่อการเรียนรู้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ครูผู้สอนตลอดจนผู้ปกครอง สามารถดาวน์โหลดกิจกรรมวิทยาศาสตร์และดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ https://sciencefilm.ipst.ac.th/