กรมส่งเสริมการเกษตร เผยผลสำเร็จ “ทุ่งบางระกำโมเดล” จังหวัดพิษณุโลก เพิ่มมูลค่าฟางข้าว สร้างรายได้ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรอย่างเป็นรูปธรรม

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ภาคการเกษตร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมีผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่ต้นเหตุทั้งข้าว ข้าวโพด และอ้อย โดยได้มีการถอดบทเรียน ปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินงานปีที่ผ่านมา เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดแนวทางการดำเนินงานของปี 2567 พร้อมชี้แจงสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในปัจจุบัน รวมถึงการสรุปสถานการณ์การเผาในพื้นที่การเกษตรทั้งหมดและการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2565/66 ทั้งปัญหาและอุปสรรคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำการเกษตรเป็นการทำการเกษตรปลอดการเผา โดยการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ โดยในปี 2566 ตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายดังกล่าว คือการจัดกิจกรรมส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรของสำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลก โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมนำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผา รวมทั้งสร้างต้นแบบในการทำการเกษตรปลอดการเผาเพื่อสนับสนุนการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดพิษณุโลกที่กำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และ PM 2.5 เป็นวาระสำคัญ โดยให้ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล พร้อมนำไปขยายผลในพื้นที่อื่น

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลกจึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ “ฟางทองคำ”  ที่บางระกำโมเดลขึ้น เพื่อส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าฟางข้าว และลดการเผาในพื้นที่การเกษตร โดยมีการกระตุ้นการสร้างมูลค่าให้ฟางข้าวเปรียบเหมือนทองคำ โดยภาครัฐทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ ดูแลด้านการตลาด การขายฝาก พร้อมทั้งการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผาในพื้นที่ปลูกข้าว รวมทั้งสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจค้าฟางข้าว ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่บางระกำโมเดล มีพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง ปีการผลิต 2565/66 ในพื้นที่บางระกำโมเดลประมาณ 160,000 ไร่ โดยฟางข้าวในพื้นที่ 1 ไร่ จะสามารถอัดก้อนได้จำนวน 25 ก้อน ราคาขายก้อนละ 18 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากฟางข้าวไร่ละ 450 บาท ซึ่งในภาพรวมของปีการผลิต 2565/66 ในบางระกำโมเดล สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้จำนวนกว่า 15.77 ล้านบาท  สามารถลดจุด Hotspot ค่าความร้อน และฝุ่น PM 2.5 ลงได้มาก นอกจากนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลก ยังได้ขยายผลสำเร็จของกิจกรรมรณรงค์ “ฟางทองคำ” ที่บางระกำโมเดลดังกล่าว ไปใช้กับพื้นที่นอกบางระกำโมเดลให้ครบทั้ง 9 อำเภอ ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังนอกบางระกำโมเดล จำนวน 581,840 ไร่ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ถึงกว่า 91.23 ล้านบาท รวมแล้วโครงการดังกล่าวสามารถทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปีการผลิต 2565/66 ทั้งในบางระกำโมเดลและนอกบางระกำโมเดลในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก มีรายเพิ่มจากการจำหน่ายฟาง รวมกันกว่า 107 ล้านบาท สำหรับแผนการดำเนินการ “บางระกำโมเดล” ในปีการผลิต 2566/67 กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลก ได้กำหนดจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนมกราคม 2567

ทั้งนี้ การดำเนินการ “บางระกำโมเดล” ของจังหวัดพิษณุโลก  เป็นการดำเนินการในพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ปีการผลิต 2565/66 ประกอบด้วยพื้นที่บางส่วนของ 4 อำเภอ คือ อำเภอเมืองพิษณุโลก จำนวน 24,764 ไร่ อำเภอพรหมพิราม จำนวน 106,914 ไร่ อำเภอบางระกำ จำนวน 37,766 ไร่ และอำเภอวัดโบสถ์ จำนวน 910 ไร่ ซึ่งจัดเป็นพื้นที่แก้มลิงสำหรับรับน้ำในฤดูน้ำหลากจากภาคเหนือ ทำให้เกษตรกรเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังแล้วจะต้องเร่งเพาะปลูกข้าวนาปีให้ทันก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม เพื่อที่จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนวันที่ 15 สิงหาคมของทุกปี