วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) มอบหมายให้นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ศธ. รักษาราชการแทนรองปลัด ศธ., ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพของกระทรวงศึกษาธิการนัดแรก ที่เกิดขึ้นตามคำสั่งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) จัดทำแพลตฟอร์ม และพัฒนาระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิทยาการโอลิมปิกไทย นำเสนอหลักสูตรโอลิมปิกศึกษา OVEP : Olympic Values Education Programmer ที่มีอุดมการณ์จัดทำหลักสูตรเพื่อให้โลกน่าอยู่ด้วยการกีฬา เป็นหลักสูตรที่เหมาะกับช่วงอายุ 5-18 ปี มีการส่งเสริมจินตนาการผ่านเกมส์ นิทาน และสื่อ Media ต่าง ๆ เป็นการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมและสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยสามารถต่อยอดผล และขยายผลการดำเนินงานจากโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร (คูปองพัฒนาครู) มาสู่การปฏิบัติให้เกิดผลกับนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ พัฒนาการดำเนินการในศูนย์บ่มเพาะกีฬา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ., ส่งเสริมการกีฬาในสถานศึกษา อาทิ กีฬาภายในโรงเรียน (กีฬาสี) กีฬาระหว่างโรงเรียน และพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอน
“พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนทุกด้าน ตามนโยบายเรียนดี มีความสุข โดยเน้นให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียน ซึ่งแนวคิดเรื่องโอลิมปิกศึกษาไม่ได้สอนให้เด็กเป็นนักกีฬาอย่างเดียว แต่จะเป็นแนวทางการศึกษาของโลกที่นำเอาปรัชญาโอลิมปิกไปใช้ในการเรียนการสอน ให้นักเรียนได้ประสบการณ์ใหม่จากการเรียนรู้ของค่านิยมโอลิมปิก ซึ่งคาดว่าน่าจะมีประโยชน์กับทุกฝ่าย ในฐานะที่ทุกหน่วยงานในที่นี้ทำนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพของเด็กทุกด้านภายใต้นโยบาย 4 H คือ Head (เก่ง) คิด วิเคราะห์ สติปัญญาดี มีความรู้ มีความสามารถ, Heart(ดี) มีคุณธรรม จริยธรรม จิตใจดี มีจิตสำนึกที่ดีต่อตนเองและส่วนรวม, Hand (มีทักษะ) ทักษะเรียนรู้ ทักษะปฏิบัติทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และ Health (แข็งแรง) รอบรู้ ปลอดภัย สุขภาพกายจิตดี ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมเด็กในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องมีทั้งร่างกาย จิตใจ ความรู้ และสุขภาพ” นายสิริพงศ์ กล่าว
จากนั้นแต่ละหน่วยงานได้นำเสนอสื่อประชาสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Infographic video clip ข่าวประชาสัมพันธ์ รวมถึงช่องทางการเผยแพร่ตามแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพกายและจิตของนักเรียน อาทิ ศูนย์สารนิเทศ สพฐ. นำเสนอแผนการประชาสัมพันธ์และตัวอย่าง Infographic ต่อต้านการกลั่นแกล้งในโรงเรียน (Bully), สช. นำเสนอแผนการขับเคลื่อน POMPS ในการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน เป็นต้น เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างการรับรู้ต่อผู้เรียน ครู ผู้ปกครอง และสังคม ให้เกิดแรงกระเพื่อมในการหันมาให้ความสำคัญต่อสุขภาพจิตเด็กในยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
#กระทรวงศึกษาธิการ #เรียนดีมีความสุข #สุขภาพจิตเด็ก #เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา #การศึกษา #โอลิมปิกศึกษา